เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ตามที่รู้ ได้แก่ ตามที่รู้ คือ ตามที่ทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอด ได้แก่ เราจักบอกธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง
มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้ มิใช่โดยการเล่าลือ
มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรกะ มิใช่โดยการ
อนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจ
ไว้แล้ว จักบอกธรรมที่รู้เฉพาะตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง รวมความว่า เราจัก
บอก... นั้น แก่เธอ ตามที่รู้ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร)
เราจักบอกความผาสุก และธรรมอันสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ แก่เธอ ตามที่รู้
[199] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย 5 อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์และสัตว์ 4 เท้า

ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์
คำว่า ผู้เป็นนักปราชญ์ ในคำว่า ผู้เป็นนักปราชญ์... ไม่พึงกลัวภัย 5 อย่าง
ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เฉลียวฉลาด ไม่พึงกลัว คือ ไม่พึง
หวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง
ต่อภัย 5 อย่าง ได้แก่ ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและ
ความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ผู้เป็นนักปราชญ์...
ไม่พึงกลัวภัย 5 อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :583 }