เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ยังไม่คลายจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา ... ธัมมตัณหา
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏ
และวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดใน
กามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ใน
กรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป
ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหา ได้แก่ ผู้ยังไม่คลายตัณหา คือ ไม่ปราศจาก
ตัณหา ไม่สละตัณหา ไม่คายตัณหา ไม่เปลื้องตัณหา ไม่ละตัณหา ไม่สลัดทิ้งตัณหา
รวมความว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[12] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ว่าด้วยความยึดถือ 2 อย่าง
คำว่า พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น
ของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา 2 อย่าง
คือ (1) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :58 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเราซึ่ง
วัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณเท่านี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ
ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น
ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วย
อำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ 108 นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจ
ตัณหา
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ1 20 มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ2 10 อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ3 10
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ
ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น
ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง ความ
ถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริง
เห็นปานนี้จนถึงทิฏฐิ 62 นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ

เชิงอรรถ :
1 สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 คือปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ -
(1) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (2) เห็นอัตตามีรูป (3) เห็นรูปในอัตตา (4) เห็นอัตตาในรูป (5) ย่อมตาม
เห็นเวทนาเป็นอัตตา (6) เห็นอัตตามีเวทนา (7) เห็นเวทนาในอัตตา (8) เห็นอัตตาในเวทนา (9) ย่อม
ตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (10) เห็นอัตตามีสัญญา (11) เห็นสัญญาในอัตตา (12) เห็นอัตตาในสัญญา
(13) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (14) เห็นอัตตามีสังขาร (15) เห็นสังขารในอัตตา (16) เห็นอัตตาใน
สังขาร (17) ย่อมตามเห็นวิญญาณเป็นอัตตา (18) เห็นอัตตามีวิญญาณ (19) เห็นวิญญาณในอัตตา
(20) เห็นอัตตาในวิญญาณ (สํ.ข. 17/155/149, ขุ.ม.อ. 12/158)
2 มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ 10 คือ (1) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (2) การบูชาไม่มีผล (3) การบวงสรวงไม่มีผล
(4) กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (5) โลกนี้ไม่มี (6) โลกหน้าไม่มี (7) มารดาไม่มี (8) บิดาไม่มี
(9) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (10) สมณพราหมณ์ที่ดำเนินตนชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งในโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบ ไม่มี (ขุ.จู. 30/143/288)
3 อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ 10 หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี 10 ประการ คือเห็นว่า
(1) โลกเที่ยง (2) โลกไม่เที่ยง (3) โลกมีที่สุด (4) โลกไม่มีที่สุด (5) ชีวะกับสรีระ เป็นอย่างเดียวกัน (6)
ชีวะกับสรีระ เป็นคนละอย่าง (7) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (8) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก (9)
หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (10) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีก
ก็มิใช่ (องฺ.ทสก. 24/93/149-151)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :59 }