เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
2. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
3. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
4. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า มีสติ
พระสารีบุตรเถระทูลถามถึงอธิสีลสิกขาว่า ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
ทูลถามถึงอธิจิตตสิกขาว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ทูลถามถึงอธิปัญญาสิกขาว่า
มีปัญญารักษาตน ทูลถามถึงความบริสุทธิ์แห่งสติว่า ผู้มีสติ รวมความว่า ภิกษุนั้น
พึงสมาทานสิกขาอะไร จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ

ว่าด้วยการกำจัดมลทิน
คำว่า กำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
อธิบายว่า คนทำทอง ตรัสเรียกว่า ช่างทอง ทองคำ ตรัสเรียกว่า ทอง ช่างทอง
ย่อมเป่า ไล่ กำจัดมลทินทองทั้งหยาบ ปานกลาง และละเอียด ฉันใด ภิกษุย่อมเป่า
ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสทั้งหยาบ
ปานกลาง และละเอียด ฉันนั้นเหมือนกัน
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ซึ่งทำให้เป็น
คนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่ง
ความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ
ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
มิจฉาสังกัปปะ ด้วยสัมมาสังกัปปะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :578 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
...มิจฉาวาจา ด้วยสัมมาวาจา
...มิจฉากัมมันตะ ด้วยสัมมากัมมันตะ
...มิจฉาอาชีวะ ด้วยสัมมาอาชีวะ
...มิจฉาวายามะ ด้วยสัมมาวายามะ
...มิจฉาสติ ด้วยสัมมาสติ
...มิจฉาสมาธิ ด้วยสัมมาสมาธิ
...มิจฉาญาณ ด้วยสัมมาญาณ
ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
มิจฉาวิมุตติ ด้วยสัมมาวิมุตติ
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งกิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ด้วยอริยมรรค
มีองค์ 8 รวมความว่า กำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงทูลถามว่า
ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
[198] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร)
เราจักบอกความผาสุก และธรรมอันสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ แก่เธอ ตามที่รู้
คำว่า ของผู้เบื่อหน่าย ในคำว่า ความผาสุก... ของผู้เบื่อหน่าย อธิบายว่า
ผู้เบื่อหน่าย คือ อึดอัด ระอาด้วยชาติ ... ชรา ... พยาธิ ... มรณะ ... โสกะ ... ปริเทวะ
... ทุกขะ ... โทมนัส ... อุปายาส ... ด้วยความทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ รวมความว่า
ของผู้เบื่อหน่าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :579 }