เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำ
ให้แจ้งซึ่งอริยธรรม เช้าวันนี้เอง แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตร
ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่ง
อริยธรรมในเที่ยงนี้... เย็นนี้... ก่อนภัต... หลังภัต... ปฐมยาม... มัชฌิมยาม...
ปัจฉิมยาม... ข้างแรม... ข้างขึ้น... ฤดูฝน... ฤดูหนาว... ฤดูร้อน... ปฐมวัย...
มัชฌิมวัย... ปัจฉิมวัย แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตร ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยความบริสุทธิ์แห่ง
ศีลและวัตรเช่นนี้ รวมความว่า พึงมีศีลและวัตรอย่างไร

ว่าด้วยการอบรมตน
คำว่า อบรมตนอยู่ ในคำว่า ภิกษุอบรมตนอยู่ อธิบายว่า ภิกษุปรารภความ
เพียร มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งฉันทะ ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง ภิกษุส่งตนไป คือ ส่งตนไปในประโยชน์ตน1 ในญายะ2
ในลักษณะ3 ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ คือ ส่งตนไปว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"...
ส่งตนไปว่า "เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี... เพราะชาติเป็นปัจจัย
ชราและมรณะจึงมี... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ... เพราะชาติดับ ชราและ
มรณะจึงดับ"...
ส่งตนไปว่า "นี้ทุกข์... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา... เหล่านี้อาสวะ...
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา"...
ส่งตนไปว่า "เหล่านี้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง... เหล่านี้ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง"

เชิงอรรถ :
1 ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ม.อ. 196/461)
2 ญายะ ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ม.อ. 196/461)
3 ลักษณะ ในที่นี้หมายถึงไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น (ขุ.ม.อ. 196/461)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :576 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ส่งตนไปสู่เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่งผัสสายตนะ 6...
อุปาทานขันธ์ 5 ... ส่งตนไปสู่เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง
มหาภูตรูป 4
ส่งตนไปว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา" รวมความว่า อบรมตนอยู่
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ รวม
ความว่า ภิกษุอบรมตนอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[197] (พระสารีบุตรเถระทูลถามว่า)
ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น

ว่าด้วยการสมาทานสิกขา 3
คำว่า ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร อธิบายว่า ภิกษุนั้นถือเอา สมาทาน
คือ ยึดถือ รับเอา ถือ ยึดมั่น ถือมั่นสิกขาอะไร รวมความว่า ภิกษุนั้นพึง
สมาทานสิกขาอะไร
คำว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติ ได้แก่ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจ
ไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ
คำว่า มีปัญญารักษาตน ได้แก่ มีปัญญารักษาตน คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :577 }