เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยทิศที่ไม่เคยไป
คำว่า เมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า
ทิศที่ไม่เคยไป คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่
สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท ทิศนั้นชื่อว่า
ทิศที่ไม่เคยไป ทิศนั้น มิใช่ทิศที่เคยไป โดยกาลยาวนานนี้
บุคคลพึงประคองภาชนะน้ำมัน เต็มเสมอขอบปาก
ไม่มีส่วนเหลือ ฉันใด
พระโยคาวจรเมื่อปรารถนา (จะไป)สู่ทิศที่ยังไม่เคยไป
พึงรักษาจิตของตนไว้เสมอ ฉันนั้น
เมื่อภิกษุดำเนินไป เมื่อจะไป คือ เมื่อก้าวไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป รวมความว่า
เมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
คำว่า อันตราย ในคำว่า ภิกษุ...พึงปราบปรามอันตราย อธิบายว่า พึงปราบปราม
คือ ครอบงำ กำจัด ขับไล่ ย่ำยีอันตราย รวมความว่า ภิกษุ...พึงปราบปราม
อันตราย
คำว่า บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด อธิบายว่า บนที่นั่งที่นอนที่อยู่ปลายแดน
อันสงัด คือ เป็นที่สุดรอบ มีภูเขาเป็นที่สุด มีป่าเป็นที่สุด มีแม่น้ำเป็นที่สุด หรือมี
แหล่งน้ำเป็นที่สุด เป็นสถานที่พวกมนุษย์ไม่ไถ ไม่หว่าน ไม่เป็นที่ท่องเที่ยวของ
มนุษย์ เพราะเลยเขตชุมชน รวมความว่า บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด ด้วยเหตุนั้น
พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
พึงปราบปรามอันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[196] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า)
ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :569 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร อธิบายว่า พระเถระถามถึงความ
บริสุทธิ์แห่งวาจาว่า ภิกษุนั้นพึงประกอบด้วยวิธีการพูดเช่นไร คือ ตั้งไว้อย่างไร
มีประการอย่างไร เปรียบได้กับอะไร

ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจา
ความบริสุทธิ์แห่งวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละการกล่าวเท็จ เว้นขาดจากการกล่าวเท็จได้แล้ว คือ
เป็นคนพูดจริง ตั้งมั่นในความสัตย์ มีถ้อยคำมั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวง
ชาวโลก ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียดได้แล้ว ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไป
บอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ ฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่ไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลาย
คนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกแยกกัน หรือส่งเสริมคนที่มีประโยชน์ร่วมกัน
มีความสามัคคีเป็นที่ชื่นชม ยินดีในความสามัคคี รื่นเริงในสามัคคีธรรม เป็นผู้กล่าว
วาจาก่อให้เกิดความสามัคคี ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบได้แล้ว วาจาใด
ไร้โทษ สบายหู น่ารัก จับใจ แบบชาวเมือง คนส่วนใหญ่ชอบใจ พอใจ ก็กล่าววาจา
เช่นนั้น ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อได้แล้ว พูดถูกเวลา พูดจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีต้นมีปลาย
ประกอบด้วยประโยชน์ตามกาลอันสมควร ประกอบด้วยวจีสุจริต 4 กล่าววาจา
ปราศจากโทษ 4 สถาน เป็นผู้งดแล้ว งดเว้นแล้ว เว้นขาดแล้ว ออกแล้ว สลัดออก
แล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับเดรัจฉานกถา 32 ประการ มีใจเป็นอิสระ
(จากกิเลส)อยู่
เธอย่อมกล่าวกถาวัตถุ 10 ประการ คือ
1. อัปปิจฉกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย)
2. สันตุฏฐิกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ)
3. ปวิเวกกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายใจ)
4. อสังสัคคกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่)
5. วิริยารัมภกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :570 }