เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "มหาบพิตร ธรรม 3 ประการ เมื่อ
เกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์
เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. โลภธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
2. โทสธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
3. โมหธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม 3 ประการเหล่านี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น1
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ
ความไม่ยินดีกุศลธรรม
ความยินดีกามคุณ ซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้
บาปวิตกในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น2
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า อันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/113/85, ขุ.อิติ. 25/50/272, ขุ.จู. 30/128/264
2 สํ.ส. 15/237/250, ขุ.สุ. 25/274/387, ขุ.จู. 30/124/264

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :568 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยทิศที่ไม่เคยไป
คำว่า เมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า
ทิศที่ไม่เคยไป คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่
สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท ทิศนั้นชื่อว่า
ทิศที่ไม่เคยไป ทิศนั้น มิใช่ทิศที่เคยไป โดยกาลยาวนานนี้
บุคคลพึงประคองภาชนะน้ำมัน เต็มเสมอขอบปาก
ไม่มีส่วนเหลือ ฉันใด
พระโยคาวจรเมื่อปรารถนา (จะไป)สู่ทิศที่ยังไม่เคยไป
พึงรักษาจิตของตนไว้เสมอ ฉันนั้น
เมื่อภิกษุดำเนินไป เมื่อจะไป คือ เมื่อก้าวไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป รวมความว่า
เมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
คำว่า อันตราย ในคำว่า ภิกษุ...พึงปราบปรามอันตราย อธิบายว่า พึงปราบปราม
คือ ครอบงำ กำจัด ขับไล่ ย่ำยีอันตราย รวมความว่า ภิกษุ...พึงปราบปราม
อันตราย
คำว่า บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด อธิบายว่า บนที่นั่งที่นอนที่อยู่ปลายแดน
อันสงัด คือ เป็นที่สุดรอบ มีภูเขาเป็นที่สุด มีป่าเป็นที่สุด มีแม่น้ำเป็นที่สุด หรือมี
แหล่งน้ำเป็นที่สุด เป็นสถานที่พวกมนุษย์ไม่ไถ ไม่หว่าน ไม่เป็นที่ท่องเที่ยวของ
มนุษย์ เพราะเลยเขตชุมชน รวมความว่า บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด ด้วยเหตุนั้น
พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
พึงปราบปรามอันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[196] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า)
ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :569 }