เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ทรงเป็นพระคณาจารย์ของหมู่ภิกษุ... หมู่ภิกษุณี... หมู่อุบาสก... หมู่อุบาสิกา...
หมู่พระราชา... หมู่กษัตริย์... หมู่พราหมณ์... หมู่แพศย์... หมู่ศูทร... หมู่เทพ...
หมู่พรหม จึงชื่อว่าพระคณาจารย์ พระศาสดาทรงเป็นผู้นำหมู่ เป็นพระคณาจารย์
เป็นอาจารย์แห่งหมู่คณะ
คำว่า เสด็จมาแล้ว ได้แก่ ทรงเข้าไป ทรงเข้าไปถึง ทรงถึงพร้อมซึ่งสังกัสสนคร
แล้ว รวมความว่า ไม่หลอกลวง เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์
คำว่า ของคนเป็นอันมาก ในคำว่า ของคนเป็นอันมาก ผู้ยังผูกพันอยู่ใน
ศาสนานี้ ได้แก่ คนเป็นอันมาก คือ ที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา มนุษย์
คำว่า ผู้ยังผูกพันอยู่ ได้แก่ ผู้ยังผูกพันอยู่ คือ มีความประพฤติผูกพัน
เป็นผู้บำรุง เป็นศิษย์ รวมความว่า ของคนเป็นอันมาก ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
คำว่า ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้า อธิบายว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว คือ ปรารถนาจะทูลถามปัญหา
จึงมาเฝ้าแล้ว มีความปรารถนาจะฟังปัญหา จึงมาเฝ้าแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์
มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง การมาเฝ้า การก้าวเดินเข้าเฝ้า การเข้าไปเฝ้า การเข้าไปนั่งใกล้
พึงมีแก่ผู้ต้องการด้วยปัญหา คือ ผู้ปรารถนาจะถามปัญหา ผู้ปรารถนาจะฟังปัญหา
รวมความว่า ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีอาคม(แหล่งความรู้)แห่งปัญหา พระองค์ทรงมี
ความสามารถที่จะตรัสบอก คือ วิสัชนาปัญหาข้อที่ข้าพระองค์ทูลถาม ปัญหาข้อนี้
จึงเป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :560 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[193] (พระสารีบุตรกล่าวว่า)
เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ในถ้ำแห่งภูเขา ที่โคนต้นไม้ หรือที่ป่าช้า
คำว่า เมื่อภิกษุ ในคำว่า เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ได้แก่ เมื่อภิกษุผู้เป็นกัลยาณ-
ปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า เบื่อหน่าย ได้แก่ เบื่อหน่าย คือ อึดอัด ระอา รังเกียจด้วยชาติ... ชรา...
พยาธิ... มรณะ... โสกะ... ปริเทวะ... ทุกข์... โทมนัส... อุปายาส...
เบื่อหน่าย อึดอัด ระอา รังเกียจด้วยทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก... ทุกข์
เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย... ทุกข์
เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์... ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์... ทุกข์
เนื่องจากการอยู่ในครรภ์... ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรถ์... ทุกข์ที่สืบเนื่องจาก
ผู้เกิด... ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตน...
ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของคนอื่น... ทุกข์ที่เกิดจากทุกขเวทนา... ทุกข์ที่เกิด
จากสังขาร... ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน...
เบื่อหน่ายด้วยทุกข์เพราะโรคทางตา... ทุกข์เพราะโรคทางหู... ทุกข์เพราะโรค
ทางจมูก... ทุกข์เพราะโรคทางลิ้น... ทุกข์เพราะโรคทางกาย... ทุกข์เพราะโรคศีรษะ...
ทุกข์เพราะโรคหู... ทุกข์เพราะโรคปาก... ทุกข์เพราะโรคฟัน... โรคไอ... โรคหืด...
ไข้หวัด... ไข้พิษ... ไข้เชื่อมซึม... โรคท้อง... เป็นลมสลบ... ลงแดง... จุกเสียด...
อหิวาตกโรค... โรคเรื้อน... ฝี... กลาก... มองคร่อ... ลมบ้าหมู... หิดเปื่อย... หิดด้าน...
หิด... หูด... โรคละลอก... โรคดีซ่าน... โรคเบาหวาน... โรคเริม... โรคพุพอง...
โรคริดสีดวงทวาร... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ...
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม... ไข้สันนิบาต...
เบื่อหน่ายด้วยความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล... ความเจ็บป่วยที่
เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความ
พากเพียรเกินกำลัง... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม... ความหนาว... ความร้อน...
ความหิว... ความกระหาย... ปวดอุจจาระ... ปวดปัสสาวะ... ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :561 }