เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ด้วยพระทักขิไณยบุคคล กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก ท่านทั้งหลาย
มีศรัทธานี้อยู่ ไทยธรรมนี้ก็มีอยู่พร้อม ทั้งอาตมภาพก็เป็นปฏิคาหก ถ้าอาตมภาพไม่
รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจากบุญไปเสีย อาตมภาพมิได้มีความต้องการด้วยปัจจัยนี้
แต่จักรับเพื่ออนุเคราะห์พวกท่าน" เพราะอาศัยเหตุนั้น เธอจึงรับจีวรมากมาย
รับบิณฑบาตมากมาย รับเสนาสนะมากมาย รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากมาย
การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง
เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า เรื่องหลองลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า "คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้
จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ตั้งสติเดิน
ตั้งสติยืน ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำทีเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน เหมือนภิกษุมี
สมาธิยืน เหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง เหมือนภิกษุมีสมาธินอน เป็นเหมือนภิกษุเจริญ
ฌานอวดต่อหน้า การตั้งท่า การวางท่า การดำรงมั่นอิริยาบถ การทำหน้านิ่ว
การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้
นี้ตรัสเรียกว่า เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า "คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้"
จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า "ภิกษุผู้ทรงจีวรมีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมี
ศักดิ์ใหญ่ ผู้ใช้บาตร... ใช้ภาชนะโลหะ... ใช้ธมกรก... ใช้ผ้ากรองน้ำ... ใช้ลูกกุญแจ...
ใช้รองเท้า... ใช้ประคตเอว... ใช้สายโยกบาตร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่"
พูดว่า "ภิกษุผู้มีอุปัชฌาย์ระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ มีอาจารย์ระดับนี้... มีผู้ร่วม
อุปัชฌาย์ระดับนี้... มีผู้ร่วมอาจารย์ระดับนี้... มีมิตร... มีพรรคพวก... มีคนที่คบหา
กัน... มีสหายระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่" พูดว่า "ภิกษุผู้อยู่ในวิหารมีรูปแบบ
อย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่... อยู่ในเรือนมีหลังคาด้านเดียว มีรูปแบบอย่างนี้...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :558 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อยู่ในปราสาท... อยู่ในเรือนโล้น... อยู่ในถ้ำ... อยู่ในที่หลีกเร้น... อยู่ในกุฎี... อยู่ใน
เรือนยอด... อยู่ที่ป้อม... อยู่ในโรงกลม...อยู่ในเรือนพัก... อยู่ในเรือนรับรอง... อยู่ใน
มณฑป... อยู่ที่โคนไม้ มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่"
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้วางหน้าเฉยเมย ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด โกหกหลอกลวง
ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง เป็นผู้ได้รับยกย่องด้วยการวางหน้าว่า "สมณะนี้ได้วิหาร-
สมาบัติ อันมีอยู่เห็นปานนี้" ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันเกี่ยวเนื่องด้วย
โลกุตตรธรรมและสุญญตนิพพาน ซึ่งลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียดอ่อน ปิดบัง การทำ
หน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลองลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็น
ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
เรื่องหลอกลวง 3 อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ไม่หลอกลวง รวมความว่า ไม่หลอกลวง

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระคณาจารย์
คำว่า พระคณาจารย์ ในคำว่า เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระคณาจารย์
ทรงเป็นอาจารย์แห่งหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงเป็นศาสดาแห่งหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงบริหารหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงสั่งสอนหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงตามสอนหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงแกล้วกล้าเสด็จเข้าสู่หมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
หมู่คณะย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงฟังพระองค์ ตั้งจิตเพื่อความรู้ จึงชื่อว่า
พระคณาจารย์
พระศาสดาทรงทำหมู่คณะให้ออกจากอกุศลแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศล จึงชื่อว่า
พระคณาจารย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :559 }