เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
ทรงมีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตายและภพใหม่ก็ไม่มีอีก
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้วจากราคะ ... โทสะ...
โมหะ... โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา... มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ...
ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ... มทะ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริต
ทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อน
ทุกประการ ทรงมีพระทัยพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้ว จากอกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคง เพราะทรงแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาค เมื่อศีลมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า
ทรงเป็นผู้มีศีล
เมื่อศรัทธามีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีศรัทธา
เมื่อความเพียรมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มี
ความเพียร
เมื่อสติมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีสติ
เมื่อสมาธิมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีสมาธิ
เมื่อปัญญามีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีปัญญา
เมื่อวิชชามีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีวิชชา 3
เมื่อพละมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีพละ 10
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ เป็นอย่างนี้
รวมความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :556 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยเรื่องหลอกลวง 3 อย่าง
คำว่า ไม่หลอกลวง ในคำว่า ไม่หลอกลวง เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์
ได้แก่ เรื่องหลอกลวง 3 อย่าง คือ
1. เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
2. เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
3. เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุ ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ มีความต้องการจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะต้องการได้มากยิ่งขึ้น จึงบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า "จีวรที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด เอามาทำสังฆาฏิใช้
จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหา จึงจะ
เป็นการเหมาะสม เสนาสนะที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรอยู่
โคนไม้ อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่ที่กลางแจ้ง จึงจะเป็นการเหมาะสม คิลานปัจจัยเภสัช-
บริขารที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรทำยาด้วยน้ำมูตรเน่า หรือ
ชิ้นลูกสมอ จึงจะเป็นการเหมาะสม"
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้นนั้น เธอจึงครองจีวรเศร้าหมอง ฉันบิณฑบาต
เศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะซอมซ่อ ใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ คหบดี
ทั้งหลายรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า "สมณะรูปนี้ มีความปรารถนาน้อย สันโดษ สงบสงัด
ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดขัดเกลา" ก็ยิ่งนิมนต์เธอให้
รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากยิ่งขึ้น เธอก็พูดอย่าง
นี้ว่า "เพราะพรั่งพร้อมด้วยเหตุ 3 ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก
คือ เพราะพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา... เพราะพรั่งพร้อมด้วยไทยธรรม... เพราะพรั่งพร้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :557 }