เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[11] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช

ว่าด้วยหมู่สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา
คำว่า เราเห็น ในคำว่า เราเห็น ... กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก ได้แก่ เราเห็น
แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู ด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง
ด้วยปัญญาจักขุบ้าง ด้วยพุทธจักขุบ้าง ด้วยสมันตจักขุบ้าง
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า กำลังดิ้นรนอยู่ อธิบายว่า เราเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดูหมู่สัตว์นี้ ผู้กำลังดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา
กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส
ดิ้นรนเพราะการประกอบ ดิ้นรนเพราะวิบาก ดิ้นรนเพราะทุจริต คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :55 }