เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระญาติ ความกังวลด้วยพระสหายและอำมาตย์(และ)ความกังวลด้วยการสั่งสม
ทุกอย่าง ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวะ เสด็จออกผนวชจาก
พระราชวังเป็นบรรพชิต ทรงเข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีกังวล เสด็จเที่ยวไป ประทับอยู่
ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้
ดำเนินไป ตามลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะ
ส่วนแห่งการบรรพชา เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงผนวชแล้วอย่างนี้ ทรงใช้สอยเสนาสนะที่
เป็นป่าทึบและป่าละเมาะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการ
สัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น
ตามลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จไปพระองค์เดียว ประทับ
ยืนพระองค์เดียว ประทับนั่งพระองค์เดียว บรรทมพระองค์เดียว เสด็จเข้าสู่หมู่บ้าน
เพื่อบิณฑบาตพระองค์เดียว เสด็จกลับพระองค์เดียว ประทับนั่งในที่ลับพระองค์
เดียว ตั้งพระทัยจงกรมพระองค์เดียว เสด็จเที่ยวไป ประทับอยู่ ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ
ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้ดำเนินไปตามลำพัง
พระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นผู้ทรงเป็นเอกบุรุษ ไม่มีเพื่อนที่สองอย่างนี้
ไม่ทรงประมาท ทรงมีความเพียร ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวอยู่ ทรงตั้งความเพียรครั้งใหญ่
ณ โคนต้นโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาผู้ชั่วร้าย กีดกัน
ไม่ให้มหาชนหลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ผู้ประมาท ทรงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้
ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาที่เป็นดุจตาข่าย ซ่านไปเกาะเกี่ยวอารมณ์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :548 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏฏ์ที่มีสภาวะอย่างนี้ และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดแห่งทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่1
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้ เป็น
อย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละราคะได้แล้ว
จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโทสะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโมหะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละเหล่ากิเลสได้แล้ว จึงชื่อว่าทรง
เป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ตรัสเรียกว่า ทางสายเอก
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเห็นธรรมอันเป็นส่วนที่สุดสิ้นแห่งชาติ
ทรงอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล
ทรงรู้จักมรรค อันเป็นทางสายเอก
ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้ข้ามมาก่อนแล้ว
จักข้าม และกำลังข้ามโอฆะได้ด้วยมรรคนี้2
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 องฺ.จตุกฺก. 21/9/11: ขุ.อิติ. 25/105/324
2 สํ.ม. 19/384/146, 409/162

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :549 }