เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ ในคำว่า ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ทั้ง เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความ
สัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ทั้ง นี้ เป็นคำเชื่อมบท
หน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ใคร ๆ ได้แก่ ใคร ๆ คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์ รวมความว่า ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย

ว่าด้วยพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยองค์ 8
คำว่า พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้ อธิบายว่า พระศาสดา
ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะ คือ เป็นผู้มีพระสุรเสียงอ่อนหวาน มีพระสุรเสียงเป็นที่ตั้ง
แห่งความรัก มีพระสุรเสียงดูดดื่มหทัย มีพระสุรเสียงเสนาะดุจเสียงนกการเวก
ก็พระสุรเสียงที่ประกอบด้วยองค์ 8 เปล่งออกจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น คือ

1. สละสลวย 2. เข้าใจง่าย
3. ไพเราะ 4. น่าฟัง
5. กลมกล่อม 6. ไม่แปร่ง
7. ลึกล้ำ 8. ก้องกังวาน

เมื่อใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงประกาศให้บริษัททราบด้วยพระ
สุรเสียง เมื่อนั้น พระสุรเสียงของพระองค์ไม่ออกไปนอกบริษัท พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม มีปกติตรัสไพเราะดุจเสียงนกการเวก
รวมความว่า พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
คำว่า พระศาสดา อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ชื่อว่าพระศาสดา
เหมือนบุคคลผู้นำหมู่เกวียน ย่อมนำหมู่เกวียนข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้าม
ออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะโจร ที่กันดารเพราะสัตว์ร้าย ที่กันดารเพราะอดอยาก
ที่กันดารเพราะขาดน้ำ ได้แก่ ให้ถึงถิ่นที่ปลอดภัย ฉันใด พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่
ย่อมทรงนำหมู่ข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :536 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ความเกิด ที่กันดารเพราะความแก่ ที่กันดารเพราะความเจ็บป่วย ที่กันดารเพราะ
ความตาย ที่กันดารเพราะความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความ
ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ที่กันดารเพราะความกำหนัด ที่กันดารเพราะความขัดเคือง
ที่กันดารเพราะความลุ่มหลง ที่กันดารเพราะความถือตัว ที่กันดารเพราะทิฏฐิ
ที่กันดารเพราะกิเลส ที่กันดารเพราะทุจริต คือ ความรกชัฏเพราะความกำหนัด
ความรกชัฏเพราะความขัดเคือง ความรกชัฏเพราะความลุ่มหลง ความรกชัฏเพราะ
ความถือตัว ความรกชัฏเพราะทิฏฐิ ความรกชัฏเพราะกิเลส ความรกชัฏเพราะ
ทุจริต ได้แก่ ให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นแดนเกษม ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น
พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ให้เพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยัง
ไม่เกิดให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค
ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระองค์ผู้ดำเนินไปตามมรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบ
พร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่
อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระคณาจารย์
คำว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงจุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ทรงมีสติสัมปชัญญะ เสด็จลงสู่ครรภ์พระมารดา
รวมความว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เหล่าเทพตรัสเรียกว่า ชาวดุสิต เทพเหล่านั้น ยินดี พอใจ ชอบใจ
เบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัสว่า พระศาสดาเสด็จจากเทวโลกชั้นดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
รวมความว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :537 }