เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
พวกเธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนพึงเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวัน
วิหารนี้ไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า
"คนย่อมเอาพวกเราไปเผาหรือจัดการไปตามรูปเรื่อง"
ความดำริเช่นนั้นไม่มีเลย พระเจ้าข้า
ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร
เพราะนั่นมิใช่ตน หรือของเนื่องด้วยตนของพวกข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า
อย่างเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละ
สิ่งนั้นเสีย สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอด
กาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของพวกเธอ
เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มิใช่ของพวกเธอ
เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอละได้แล้วจักมีเพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้
ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง สมจริงดังภาษิตนี้ว่า
คามณี ภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มองเห็น
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมล้วน ๆ
และความสืบต่อแห่งสังขารล้วน ๆ ตามเป็นจริง
เมื่อใดบุคคลมองเห็นขันธโลกว่า
เสมอด้วยหญ้าและท่อนไม้ ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ปรารถนาอะไรอื่น
นอกจากความไม่ปฏิสนธิ
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง
นางวชิราภิกษุณีได้กล่าวคำนี้กับมารผู้ชั่วช้าว่า
มารเอ๋ย ทิฏฐิของเจ้าเชื่อใครหนอว่าเป็นสัตว์
ร่างกายที่เป็นกองแห่งสังขารล้วน ๆ นี้บัณฑิตจะเรียกว่า
สัตว์ไม่ได้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :527 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ก็มีได้
เหมือนเสียงพูดว่ารถย่อมมีได้ เพราะการคุมกันแห่งส่วนประกอบ
อนึ่งทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่และ
แปรผันไป นอกจากทุกข์ไม่มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรอื่นดับไปเลย1
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้เองแล ภิกษุค้น
หารูปตลอดคติแห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา... สัญญา... สังขาร... ค้นหาวิญญาณ
ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ เมื่อภิกษุนั้นค้นหารูปตลอดคติแห่งรูป ค้นหาเวทนา...
สัญญา... สังขาร... ค้นหาวิญญาณตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ ความถือว่า "เรา
ของเรา หรือมีเรา" ของภิกษุนั้นไม่มีเลย2 รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้
ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยโลกว่าง
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่ตรัสว่าโลกว่าง โลกว่าง" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุแค่ไหนหนอแล จึงตรัสว่า
"โลกว่าง"
อานนท์ เพราะโลกว่างจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า
"โลกว่าง" อานนท์ อะไรเล่าที่ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ ตาว่างจาก
ตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน รูปว่าง... จักขุวิญญาณว่าง... จักขุสัมผัสว่าง คือ ความ
เสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะ
จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่าง... หู... เสียง... จมูก... กลิ่น... ลิ้น... รส... กาย...
โผฏฐัพพะ... ใจ... ธรรมารมณ์... มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส ก็ว่าง คือ ความเสวย
อารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะ

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/171/163
2 สํ.สฬา. 18/246/182

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :528 }