เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มี ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก
ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า "นามรูปได้มีแก่เราแล้วหนอ
นามรูปนั้นไม่มีแก่เราหนอ นามรูปพึงมีแก่เราหนอ เราไม่ได้นามรูปนั้นหนอ" รวม
ความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยความเสื่อมมีแก่ผู้ยึดถือ
คำว่า ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก อธิบายว่า ผู้ใดมีความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไร ๆ ว่า
"สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น" ผู้นั้นย่อมมีความเสื่อม สมจริงดังภาษิตนี้ว่า
เธอเสื่อมแล้วจากรถ ม้า แก้วมณี และตุ้มหู
เสื่อมแล้วจากบุตรภรรยา และโภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ใช้สอยทั้งปวง
เหตุไร เธอจึงไม่เดือดร้อน ในเวลาเศร้าโศก
โภคทรัพย์ย่อมละบุคคลไปก่อนบ้าง
บุคคลย่อมละโภคทรัพย์ไปก่อนบ้าง
โจรราชผู้ใคร่กาม หมู่ชนผู้มีโภคทรัพย์ เป็นผู้ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก
ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็ลับไป
ดวงอาทิตย์กำจัดความมืดแล้วก็ลับไป
ศัตรูเอ๋ยเรารู้จักโลกธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศก ในเวลาเศร้าโศก1
ผู้ใดไม่มีความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจเชื่อ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไร ๆ ว่า "สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น"
ผู้นั้นย่อมไม่มีความเสื่อม
สมจริงดังภาษิตนี้ว่า สมณะ ท่านยินดีหรือ เราได้อะไรมาจึงยินดีเล่า ผู้มีอายุ
ถ้าอย่างนั้น ท่านเศร้าโศกหรือ สมณะ เราเสียอะไรไปเล่า ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น
ท่านทั้งไม่ยินดี และไม่เศร้าโศกหรือ สมณะ อย่างนั้น ผู้มีอายุ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ชา. 27/2-3/124

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :524 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
เป็นเวลานานหนอ
พวกเราจึงได้พบภิกษุผู้เป็นพราหมณ์
ผู้ดับกิเลส ไม่ยินดี ไม่มีทุกข์
ข้ามตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในโลก1
รวมความว่า ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา
ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก
[186] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของ ๆ เราไม่มี
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ อธิบายว่า ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจเชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไร ๆ ว่า
"สิ่งนี้ของเรา หรือ สิ่งนี้ของคนอื่น" ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพใด ได้แก่ กิเลสเครื่องกังวลนั้นพระอรหันตขีณาสพใดละได้แล้ว
ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/99/64

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :525 }