เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ...
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ...
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ
เข้าไประงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว
จักเที่ยวไป คือ จักอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
รวมความว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป
[185] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา
ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก

ว่าด้วยนามรูป
คำว่า โดยประการทั้งปวง ในคำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง
ไม่เหลือ ไม่มีเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้ เป็นคำกล่าว
รวม ๆ ไว้ทั้งหมด
อรูปขันธ์ 4 ชื่อว่านาม
มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 ชื่อว่ารูป
คำว่า ผู้ใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :522 }