เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า มีความรู้ ในคำว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท อธิบายว่า มีความรู้
คือ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่อง
ทำลายกิเลส
คำว่า จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค 4 ตรัสเรียกว่า เวท... เป็นผู้
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ก้าวล่วงเวทนาทั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท1 รวม
ความว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท
คำว่า รู้แล้ว ในคำว่า รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว คือ รู้แล้ว คือ
ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า
"สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
คำว่า ไม่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย 2 อย่าง คือ (1) ความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา...
นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู... ไม่อาศัยจมูก... ไม่อาศัย คือ ไม่ติดแล้ว
ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้องกับรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้และธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย
คำว่า มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ อธิบายว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความ
พอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มุนีชื่อว่าเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในโลกโดยชอบ...

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 81/241

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :517 }