เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยชีวิตเป็นของน้อยด้วยเหตุ 2 ประการ
คำว่า ชีวิต ในคำว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ได้แก่ อายุ
ความดำรงอยู่ ความดำเนินไป ความให้ชีวิตดำเนินไป ความเคลื่อนไหว ความเป็นไป
ความรักษา ความเป็นอยู่ ชีวิตินทรีย์ อนึ่ง ชีวิตเป็นของน้อย ด้วยเหตุ 2 ประการ
คือ (1) ชีวิตเป็นของน้อยเพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย (2) ชีวิตเป็นของน้อย
เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย
ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ในขณะจิตที่เป็นอดีต ชีวิตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่
ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ชีวิตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ในขณะ
จิตที่เป็นปัจจุบัน ชีวิตกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง
เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว
ขณะย่อมหมุนไปอย่างรวดเร็ว
เทวดาผู้ดำรงอยู่ได้ตั้ง 84,000 กัป
ก็มิได้ประกอบด้วยจิต 2 ดวง(ในขณะจิตเดียว) เป็นอยู่ได้
ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายไป หรือยังดำรงอยู่ในโลกนี้ ดับไปแล้ว
ขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นอย่างเดียวกัน ดับไปแล้วก็มิได้สืบต่อกัน
ขันธ์ที่แตกไปในอดีตอันหาลำดับมิได้
และขันธ์ที่จะแตกไปในอนาคต มีลักษณะไม่ต่างกับขันธ์ที่ดับในปัจจุบัน
สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์
เพราะจิตแตกดับไป สัตว์โลกชื่อว่า ตายแล้ว
นี้เป็นปรมัตถบัญญัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :51 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เพราะมีอายตนะ 6 เป็นปัจจัย
ขันธ์ทั้งหลายที่แปรไปตามฉันทะ ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย
เหมือนน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น
ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้ว
กองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มี ส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่
เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น
ความแตกทำลายแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น
ปรากฏอยู่ข้างหน้า ขันธ์ทั้งหลายที่มีการแตกเป็นธรรมดา
ดำรงอยู่ มิได้รวมกับขันธ์เก่า
ขันธ์ทั้งหลายมาโดยสภาวะที่ไม่ปรากฏ แตกทำลายไปแล้ว
ก็ไปสู่สภาวะที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและดับไป
เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ฉะนั้น
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้
ชีวิตเป็นของน้อยเพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้า ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจออก ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยมหาภูตรูป1 ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารที่กลืนกิน ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยไฟธาตุ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วย
วิญญาณ มูลเหตุ(กรัชกาย) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย บุพพเหตุ2 ของ
สภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นมีกำลังน้อย แดน
เกิด(ตัณหา) มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดร่วมกัน ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย
ธรรมที่ประกอบกัน (อรูปธรรม) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดพร้อม

เชิงอรรถ :
1 มหาภูตรูป 4 (1) ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่ สภาพอันเป็นหลักที่ตั้ง ที่อาศัยแห่งสหชาตรูป
เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็งหรือธาตุดิน) (2) อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด
ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ) (3) เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญ
ว่า ธาตุไฟ) (4) วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม) (ที.สี.(แปล)
9/487-499/216-220)
2 บุพพเหตุ ในที่นี้หมายถึง อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ (ขุ.ม.อ. 10/150)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :52 }