เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป1 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4
คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า ไม่พึงทำความเสน่หา คือ
ไม่พึงทำความพอใจ ไม่พึงทำความรัก ไม่พึงทำ ได้แก่ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น
ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนัดในรูป รวมความว่า ไม่พึงทำ
ความเสน่หาในรูป

ว่าด้วยความถือตัวมีนัยต่าง ๆ
คำว่า ความถือตัว ในคำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัว
นัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง
ความถือตัว 2 นัย คือ
1. การยกตน 2. การข่มผู้อื่น
ความถือตัว 3 นัย คือ
1. ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา 2. ความถือตัวว่า เราเสมอเขา
3. ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา
ความถือตัว 4 นัย คือ
1. เกิดความถือตัวเพราะลาภ 2. เกิดความถือตัวเพราะยศ
3. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ 4. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
ความถือตัว 5 นัย คือ
1. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ
2. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ
3. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ
4. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ
5. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถข้อ 10/52

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :508 }