เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการทำบุญมุ่งนิพพาน
คำว่า นรชน...พึงน้อมใจไปในนิพพาน อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้
เมื่อให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรม ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณวัด ไหว้เจดีย์
วางของหอมและมาลาที่เจดีย์ ทำประทักษิณเจดีย์ บำเพ็ญกุสลาภิสังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง อันเป็นไปในไตรธาตุ1 ก็มิใช่เพราะเหตุแห่งคติ มิใช่เพราะเหตุแห่งการถือ
กำเนิด มิใช่เพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ มิใช่เพราะเหตุแห่งภพ มิใช่เพราะเหตุแห่งสงสาร
มิใช่เพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้ประสงค์จะพรากจากทุกข์ เอนไปในนิพพาน โอนไป
ในนิพพาน โน้มไปในนิพพาน บำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น รวมความว่า นรชน... พึงน้อม
ใจไปในนิพพาน อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปใน
อมตธาตุว่า "ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้น
ตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เป็นธรรมชาติสงบ
ประณีต" รวมความว่า นรชน... พึงน้อมใจไปในนิพพาน อย่างนี้บ้าง
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทาน
เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่
แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ
เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เจริญฌาน
เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่
แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ
เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่
บัณฑิตเหล่านั้น มีใจมุ่งนิพพาน
มีจิตโน้มไปในนิพพานนั้น
มีจิตน้อมไปในนิพพานนั้นให้ทาน

เชิงอรรถ :
1 ไตรธาตุ ดูเชิงอรรถข้อ 135/373

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :506 }