เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า พึงเป็นผู้มีสัจจะ ในคำว่า มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง อธิบายว่า
พึงประกอบด้วยวาจาสัจ คือ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์
8 รวมความว่า พึงเป็นผู้มีสัจจะ
คำว่า ไม่คะนอง ได้แก่ ความคะนอง 3 อย่าง คือ
1. ความคะนองทางกาย 2. ความคะนองทางวาจา
3. ความคะนองทางใจ... นี้ชื่อว่าความคะนองทางใจ1
ความคะนอง 3 อย่างเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
คะนอง รวมความว่า มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง

ว่าด้วยความเป็นผู้หลอกลวง
คำว่า ไม่มีความหลอกลวง ปราศจากวาจาส่อเสียด อธิบายว่า ความ
ประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
คนบางคนในโลกนี้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว ตั้งความปรารถนา
ชั่วทราม เพราะการปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือ ปรารถนาว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
ดำริว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย" กล่าววาจาด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
พยายามทางกายด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความลวง
ความล่อลวง การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น
การปิด การปกปิด การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำความ
ชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
ความหลอกลวงนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีความ
หลอกลวง

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 85/254-255

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :502 }