เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า โดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยประการทั้งหมด ทุกอย่าง
ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้เป็นคำกล่าว
รวมไว้ทั้งหมด
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1 รวมความว่า
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
คำว่า ศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน ได้แก่ สิกขา 3 อย่าง
คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า เพื่อความดับกิเลสของตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาเพื่อดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ฯลฯ เพื่อสงบ
เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สลัดทิ้ง สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทของตนเสียได้
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึงชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบชื่อว่าพึงศึกษา...
เมื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา
หรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[176] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่ว
และความหวงแหนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :501 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า พึงเป็นผู้มีสัจจะ ในคำว่า มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง อธิบายว่า
พึงประกอบด้วยวาจาสัจ คือ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์
8 รวมความว่า พึงเป็นผู้มีสัจจะ
คำว่า ไม่คะนอง ได้แก่ ความคะนอง 3 อย่าง คือ
1. ความคะนองทางกาย 2. ความคะนองทางวาจา
3. ความคะนองทางใจ... นี้ชื่อว่าความคะนองทางใจ1
ความคะนอง 3 อย่างเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
คะนอง รวมความว่า มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง

ว่าด้วยความเป็นผู้หลอกลวง
คำว่า ไม่มีความหลอกลวง ปราศจากวาจาส่อเสียด อธิบายว่า ความ
ประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
คนบางคนในโลกนี้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว ตั้งความปรารถนา
ชั่วทราม เพราะการปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือ ปรารถนาว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
ดำริว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย" กล่าววาจาด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
พยายามทางกายด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความลวง
ความล่อลวง การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น
การปิด การปกปิด การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำความ
ชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
ความหลอกลวงนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีความ
หลอกลวง

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 85/254-255

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :502 }