เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า โดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยประการทั้งหมด ทุกอย่าง
ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้เป็นคำกล่าว
รวมไว้ทั้งหมด
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1 รวมความว่า
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
คำว่า ศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน ได้แก่ สิกขา 3 อย่าง
คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า เพื่อความดับกิเลสของตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาเพื่อดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ฯลฯ เพื่อสงบ
เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สลัดทิ้ง สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทของตนเสียได้
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึงชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบชื่อว่าพึงศึกษา...
เมื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา
หรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[176] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่ว
และความหวงแหนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :501 }