เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการศึกษาเพื่อได้กามคุณ
คำว่า คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
อธิบายว่า
คำว่า การศึกษา ได้แก่ การศึกษาเรื่องช้าง การศึกษาเรื่องม้า การศึกษาเรื่องรถ
การศึกษาเรื่องธนู การเสกเป่า วิชาผ่าตัด การบำบัดรักษาทางยา วิชาหมอผี วิชา
หมอเด็ก(กุมารเวช)
คำว่า กล่าวถึง ได้แก่ กล่าวถึง คือ เล่าถึง พูดถึง บอกถึง แสดงถึง ชี้แจงถึง
อีกนัยหนึ่ง คำว่า กล่าวถึง ได้แก่ เรียน เล่าเรียน ทรงจำ เข้าไปทรงจำ เพื่อได้
กามคุณที่พัวพันอยู่ กามคุณ 5 คือ
1. รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่รู้ได้ทางหู...
5. โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่
เพราะเหตุไร กามคุณ 5 จึงตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่ เทวดา
และมนุษย์โดยมาก ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกามคุณ 5 เพราะ
เหตุนั้นกามคุณ 5 จึงตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า คนทั้งหลายกล่าวถึง
การศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
คำว่า บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น อธิบาย
ว่า บุคคลไม่พึงขวนขวาย คือ ไม่พึงเอนไป ไม่โอนไป ไม่โน้มไป ไม่น้อมใจไป
ไม่พึงเป็นผู้มีการศึกษา หรือกามคุณ 5 นั้น ๆ เป็นใหญ่ รวมความว่า บุคคล
ไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
คำว่า รู้แจ้ง...แล้ว ในคำว่า รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว ได้แก่
แทงตลอดแล้ว คือ แทงตลอดแล้วว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็น
ทุกข์...สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็น
ธรรมดา"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :500 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า โดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยประการทั้งหมด ทุกอย่าง
ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้เป็นคำกล่าว
รวมไว้ทั้งหมด
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1 รวมความว่า
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
คำว่า ศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน ได้แก่ สิกขา 3 อย่าง
คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า เพื่อความดับกิเลสของตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาเพื่อดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ฯลฯ เพื่อสงบ
เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สลัดทิ้ง สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทของตนเสียได้
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึงชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบชื่อว่าพึงศึกษา...
เมื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา
หรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[176] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่ว
และความหวงแหนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :501 }