เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม อธิบาย
ว่า เพราะถอน คือ เพราะถอด ชัก ดึง ฉุด กระชาก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะ ลูกศรคือมานะ
ลูกศรคือทิฏฐิ ลูกศรคือโสกะ ลูกศรคือความสงสัยได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่านไปทาง
ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ละการปรุงแต่งลูกศรให้เกิดขึ้นเหล่านั้น
เพราะละการปรุงแต่งลูกศรให้เกิดขึ้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่านไปในคติ นรก กำเนิด
เดรัจฉาน เปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก ไม่ต้องแล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน
ท่องเที่ยวไปจากคตินี้ไปสู่คติโน้น จากการถือกำเนิดนี้ไปสู่การถือกำเนิดโน้น จาก
ปฏิสนธินี้ไปสู่ปฏิสนธิโน้น จากภพนี้ไปสู่ภพโน้น จากสงสารนี้ไปสู่สงสารโน้น จาก
วัฏฏะนี้ไปสู่วัฏฏะโน้น รวมความว่า เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน
คำว่า ไม่ต้องล่มจม ได้แก่ ไม่ต้องล่มจมในโอฆะคือกาม ไม่ต้องล่มจมในโอฆะ
คือภพ ไม่ต้องล่มจมในโอฆะคือทิฏฐิ ไม่ต้องล่มจมในโอฆะคืออวิชชา คือ ไม่ต้องจม
ไม่ต้องจมลง ไม่ต้องล่มจมลง ไม่ไป ไม่ตกไป รวมความว่า เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[175] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา
หรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :499 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการศึกษาเพื่อได้กามคุณ
คำว่า คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
อธิบายว่า
คำว่า การศึกษา ได้แก่ การศึกษาเรื่องช้าง การศึกษาเรื่องม้า การศึกษาเรื่องรถ
การศึกษาเรื่องธนู การเสกเป่า วิชาผ่าตัด การบำบัดรักษาทางยา วิชาหมอผี วิชา
หมอเด็ก(กุมารเวช)
คำว่า กล่าวถึง ได้แก่ กล่าวถึง คือ เล่าถึง พูดถึง บอกถึง แสดงถึง ชี้แจงถึง
อีกนัยหนึ่ง คำว่า กล่าวถึง ได้แก่ เรียน เล่าเรียน ทรงจำ เข้าไปทรงจำ เพื่อได้
กามคุณที่พัวพันอยู่ กามคุณ 5 คือ
1. รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่รู้ได้ทางหู...
5. โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่
เพราะเหตุไร กามคุณ 5 จึงตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่ เทวดา
และมนุษย์โดยมาก ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกามคุณ 5 เพราะ
เหตุนั้นกามคุณ 5 จึงตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า คนทั้งหลายกล่าวถึง
การศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
คำว่า บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น อธิบาย
ว่า บุคคลไม่พึงขวนขวาย คือ ไม่พึงเอนไป ไม่โอนไป ไม่โน้มไป ไม่น้อมใจไป
ไม่พึงเป็นผู้มีการศึกษา หรือกามคุณ 5 นั้น ๆ เป็นใหญ่ รวมความว่า บุคคล
ไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
คำว่า รู้แจ้ง...แล้ว ในคำว่า รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว ได้แก่
แทงตลอดแล้ว คือ แทงตลอดแล้วว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็น
ทุกข์...สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็น
ธรรมดา"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :500 }