เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส1
อธิบายอัตตทัณฑสูตร
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายอัตตทัณฑสูตร ดังต่อไปนี้
[170] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว
คำว่า โทษ ในคำว่า ความกลัวเกิดจากโทษของตน ได้แก่ โทษ 3 อย่าง คือ
1. โทษทางกาย 2. โทษทางวาจา
3. โทษทางใจ
กายทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าโทษทางกาย
วจีทุจริต 4 อย่าง ชื่อว่าโทษทางวาจา
มโนทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าโทษทางใจ
คำว่า ความกลัว ได้แก่ ความกลัว 2 อย่าง คือ (1) ความกลัวในปัจจุบัน
(2) ความกลัวในสัมปรายิกภพ
ความกลัวในปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา
ประพฤติทุจริตทางใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมย
ยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง
พูดเท็จบ้าง พวกราชบุรุษจับบุคคลนั้นได้ จึงทูลแสดงแด่พระราชาว่า "ขอเดชะ
ผู้นี้เป็นโจร ประพฤติชั่ว ขอจงทรงลงอาญาตามที่ทรงพระราชประสงค์แก่บุคคล
นี้เถิด" พระราชาย่อมทรงบริภาษบุคคลนั้น เพราะการบริภาษเป็นปัจจัย เขาย่อม
เกิดความกลัวแล้วเสวยทุกข์และโทมนัสบ้าง ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้
เกิดจากอะไร ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/942-961/518-520

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :480 }