เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
[10] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย

ว่าด้วยสิกขา 3
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ได้แก่
เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์1
สมบูรณ์ด้วยอาจาระ2และโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก3 สีลขันธ์ใหญ่4 ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น
เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อ
ความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา

เชิงอรรถ :
1 สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำ ดังนี้ คือ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกายวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบท ที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = รักษา + โมกขะ = ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. 1/14/17)
2 อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและ
วาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้ารังเกียจ เช่น ไม่
เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสนาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่า
คฤหัสถ์ ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว
(วิสุทฺธิ. 1/14/18)
3 สีลขันธ์เล็ก หมายถึงอาบัติที่แก้ไขได้ คืออาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา (ขุ.ม.อ. 10/120)
4 สีลขันธ์ใหญ่ หมายถึงอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ คือ อาบัติปาราชิกอย่างเดียว (ขุ.ม.อ. 10/120)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :48 }