เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[169] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้)
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
คำว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ อธิบายว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้
ครอบงำรูป ครอบงำเสียง ครอบงำกลิ่น ครอบงำรส ครอบงำโผฏฐัพพะ ครอบงำ
ธรรมารมณ์ ไม่ถูกกิเลสไร ๆ ครอบงำเลย ภิกษุพึงเป็นผู้ครอบงำบาปอกุศลธรรม
เหล่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป รวมความว่า ภิกษุนั้นเป็น
ผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
คำว่า ธรรมที่เป็นพยาน ในคำว่า ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้อง
เชื่อใคร อธิบายว่า ได้เห็น คือ ได้แลเห็น ได้ ได้แทงตลอดธรรมที่ประจักษ์แก่ตน
ธรรมที่รู้ด้วยตนเอง มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้
มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก
มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวมความว่า ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น... ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น
คำว่า ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น อธิบายว่า ในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คือ ในศาสนาของพระโคดม ในศาสนาของพระพุทธเจ้า
ในศาสนาของพระชินเจ้า ในศาสนาของพระตถาคต ในศาสนาของพระผู้เป็นดุจเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :478 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ในศาสนาของพระอรหันต์ รวมความว่า เพราะฉะนั้น... ในศาสนาของพระผู้มีพระ-
ภาคพระองค์นั้น
คำว่า เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ในคำว่า พึงเป็นผู้ไม่ประมาท... นอบน้อม
อยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ ได้แก่ พึงเป็นผู้กระทำต่อเนื่อง... ชื่อว่าไม่ประมาทใน
กุศลธรรมทั้งหลาย
คำว่า ทุกเมื่อ ได้แก่ ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง... ปัจฉิมวัย
คำว่า นอบน้อมอยู่ ได้แก่ นอบน้อมอยู่ คือ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ยำเกรง ด้วยกาย วาจา ใจ ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม
คำว่า พึงหมั่นศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา 3 เหล่านั้นเมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา... เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควร
ทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ
สมาทานประพฤติ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ... คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท... นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ (พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้) เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ 14 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :479 }