เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว อธิบายว่า รู้ คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งความดับราคะว่า เป็นความสงบ...
ความดับโทสะ ... ความดับโมหะ ... ความดับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทว่า เป็น
ความสงบแล้ว รวมความว่า รู้ความดับว่า เป็นความสงบแล้ว
คำว่า ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม ได้แก่ ในศาสนาของ
พระโคดม คือ ในศาสนาของพระพุทธเจ้า ในศาสนาของพระชินเจ้า ในศาสนาของ
พระตถาคต ในศาสนาของพระผู้เป็นดุจเทพ ในศาสนาของพระอรหันต์
คำว่า ไม่พึงประมาท อธิบายว่า พึงเป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมี
เรี่ยวแรง ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส
ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า "เราพึงทำสีลขันธ์
ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร"... ว่า "เราพึงทำสมาธิขันธ์... ปัญญาขันธ์...
วิมุตติขันธ์... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร"
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมีเรี่ยวแรง
ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียร
แรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า "เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่
ยังมิได้กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยังมิได้เจริญ หรือพึงทำให้
แจ้งนิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้งโดยอุบายอย่างไร" ดังนี้ ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศล
ธรรมทั้งหลาย รวมความว่า ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้วเลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาทุกเมื่อ รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :477 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[169] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้)
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
คำว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ อธิบายว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้
ครอบงำรูป ครอบงำเสียง ครอบงำกลิ่น ครอบงำรส ครอบงำโผฏฐัพพะ ครอบงำ
ธรรมารมณ์ ไม่ถูกกิเลสไร ๆ ครอบงำเลย ภิกษุพึงเป็นผู้ครอบงำบาปอกุศลธรรม
เหล่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป รวมความว่า ภิกษุนั้นเป็น
ผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
คำว่า ธรรมที่เป็นพยาน ในคำว่า ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้อง
เชื่อใคร อธิบายว่า ได้เห็น คือ ได้แลเห็น ได้ ได้แทงตลอดธรรมที่ประจักษ์แก่ตน
ธรรมที่รู้ด้วยตนเอง มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้
มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก
มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวมความว่า ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น... ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น
คำว่า ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น อธิบายว่า ในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คือ ในศาสนาของพระโคดม ในศาสนาของพระพุทธเจ้า
ในศาสนาของพระชินเจ้า ในศาสนาของพระตถาคต ในศาสนาของพระผู้เป็นดุจเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :478 }