เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
ชื่อว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้วเพราะสงบ ระงับ
สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ... อุปนาหะ... อกุสลาภิสังขารทุก
ประเภท รวมความว่า ผู้สงบ
คำว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู อธิบายว่า ผู้สงบย่อมไม่สร้าง คือ ไม่ให้
เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งศัตรู คือ ข้าศึก เสี้ยนหนาม
ฝ่ายตรงข้าม รวมความว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุถูกประทุษร้าย ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ
หรือพวกคนพูดมาก ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[168] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้วเลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาทุกเมื่อ รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม
คำว่า นี้ ในคำว่า รู้ธรรมนี้แล้ว ได้แก่ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ทรงแสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว อธิบายว่า รู้ คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งธรรม รวมความว่า รู้ธรรม
นี้แล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง รู้ คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้วซึ่งธรรมทั้งที่เสมอและไม่เสมอ ทั้งที่เป็นทางและมิใช่ทาง ทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษ
ทั้งทรามและประณีต ทั้งดำและขาว ทั้งที่วิญญูชนติเตียนและที่วิญญูชนสรรเสริญ
รวมความว่า รู้ธรรมนี้แล้ว อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :475 }