เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมด้วยการสังวรใน
ปาติโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร มองเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย ย่อม
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายอยู่ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า "เราเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้เลวทราม" ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุ
อื่นด้วยความสมบูรณ์ด้วยศีลนั้น
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร คือ เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็น
วัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เป็นผู้งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร
เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เธอมี
ความคิดอย่างนี้ว่า "เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้มิใช่ผู้สมบูรณ์
ด้วยวัตร" ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความสมบูรณ์ด้วยวัตรนั้น
คำว่า และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
อธิบายว่า ไม่พึงดูหมิ่น คือ ไม่พึงดูแคลนผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่เศร้าหมอง ความ
เป็นอยู่ประณีต ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา ความสมบูรณ์ด้วยศีล หรือด้วยความ
สมบูรณ์ด้วยวัตร ได้แก่ ไม่พึงให้ความถือตัวเกิดด้วยเหตุนั้น ไม่พึงเป็นคนแข็ง
กระด้าง หัวสูง ด้วยเหตุนั้น รวมความว่า และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น
ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
[167] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุถูกประทุษร้าย ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ
หรือพวกคนพูดมาก ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :473 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ถูกประทุษร้าย ในคำว่า ภิกษุถูกประทุษร้ายได้ยินคำพูดมากของพวก
สมณะหรือพวกคนพูดมาก อธิบายว่า ถูกประทุษร้าย คือ ถูกด่า ถูกเสียดสี
ถูกเหยียดหยาม ถูกติเตียน ถูกว่าร้าย
คำว่า ของพวกสมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ผู้เข้าถึงการบวช
ยินยอมบวชในภายนอกจากศาสนานี้
คำว่า พวกคนพูดมาก ได้แก่ พวกกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
คนเหล่านั้น พึงด่า บริภาษ ติเตียน สาปแช่ง เบียดเบียน ย่ำยี ทำร้าย รุกราน
สั่งฆ่า เข่นฆ่า ทำการเข่นฆ่า ด้วยวาจาที่ไม่พึงปรารถนา ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ
มากมาย ได้ยิน คือ ได้สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดวาจาที่ไม่พึงปรารถนา
ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจมากมาย ของคนพวกนั้น รวมความว่า ภิกษุถูกประทุษร้าย
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะหรือพวกคนพูดมาก
คำว่า ด้วยคำหยาบ ในคำว่า ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
อธิบายว่า ไม่พึงโต้ตอบ คือ ไม่พึงกล่าวตอบด้วยคำหยาบ ได้แก่ คำกักขฬะ คือ ไม่
พึงด่าตอบผู้ด่า ไม่พึงสาปแช่งตอบผู้สาปแช่ง ไม่พึงขัดเคืองตอบผู้ขัดเคือง ไม่พึงก่อ
การทะเลาะกัน ไม่พึงก่อการบาดหมางกัน ไม่พึงก่อการแก่งแย่งกัน ไม่พึงก่อการ
วิวาทกัน ไม่พึงก่อการมุ่งร้ายกัน ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ ความขัดเคือง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย พึงเป็น
ผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การ
บาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาทและการมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
รวมความว่า ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
คำว่า ผู้สงบ ในคำว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู อธิบายว่า
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะเป็นผู้สงบราคะ
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :474 }