เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด อธิบายว่า
ความโอ้อวด เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนโอ้อวด มักอวดอ้าง ความโอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด
ภาวะที่โอ้อวด กิริยาที่ฟุ้งเฟ้อ ความเป็นคนฟุ้งเฟ้อ กิริยาที่เห่อ ความเป็นคนเห่อ
นี้ตรัสเรียกว่า ความโอ้อวด
คำว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด อธิบายว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความ
โอ้อวด คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้ความโอ้อวด
บังเกิดขึ้น ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความโอ้อวด
คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความ
โอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด
คำว่า และ ในคำว่า และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา
ด้วยศีลและวัตร เป็นคำเชื่อมบท... คำว่า และ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง
เข้าด้วยกัน อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อยู่เศร้าหมอง ก็ดูหมิ่นภิกษุ
อื่น ซึ่งเป็นอยู่ประณีตว่า "ทำไมภิกษุนี้จึงเป็นอยู่ฟุ่มเฟือย ฉันไปหมดทุกอย่าง คือ
หัวพืช ต้นพืช ผลพืช ยอดพืช เมล็ดพืชเป็นที่ 5 เพราะมีความเพียรของสมณะแบบ
สายฟ้าแลบและพะเนินเหล็ก" ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่น ผู้เป็นอยู่ประณีตด้วย
ความเป็นอยู่เศร้าหมองนั้น
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นอยู่ประณีต ก็ดูหมิ่นภิกษุอื่น ผู้เป็นอยู่เศร้าหมองว่า
"ทำไมภิกษุนี้จึงมีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขารเลย" ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่น ผู้เป็นอยู่เศร้าหมองด้วย
ความเป็นอยู่ประณีตนั้น
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สมบูรณ์ด้วยปัญญา ถูกถามก็ตอบปัญหาได้ ภิกษุ
นั้นก็มีความคิดอย่างนี้ว่า "เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ มิใช่ผู้
สมบูรณ์ด้วยปัญญา" ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความสมบูรณ์ด้วยปัญญานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :472 }