เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ส่อเสียด) ผรุสวาจา(วาจาหยาบ) สัมผัปปลาปะ(คำพูดเพ้อเจ้อ) อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของเขา) พยาบาท(ความคิดปองร้าย) มิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิดจาก
ทำนองคลองธรรม) สังขารทั้งหลาย กามคุณ 5 นิวรณ์ 5 (... ในเจตนา ... ในความ
ปรารถนา ... ในความตั้งใจที่ผิด) รวมความว่า สัตว์เหล่านั้น ... เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่
ในกรรมที่ผิด
คำว่า ประสบทุกข์แล้ว ในคำว่า ประสบทุกข์แล้ว จึงคร่ำครวญอยู่ ได้แก่
ประสบทุกข์แล้ว คือ ถึงทุกข์ ประจวบกับทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว ถึงมาร ประจวบกับ
มาร เข้าถึงมารแล้ว ถึงมรณะ ประจวบกับมรณะ เข้าถึงมรณะแล้ว รวมความว่า
ประสบทุกข์แล้ว
คำว่า คร่ำครวญอยู่ ได้แก่ ร่ำไร รำพัน เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ
ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ประสบทุกข์แล้ว จึงคร่ำครวญอยู่
คำว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ อธิบายว่า เราจุติจากภพนี้แล้ว
จักเป็นอะไรหนอ คือ จักเป็นสัตว์นรก เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เกิดในเปตวิสัย
เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่ แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปหาความเคลือบแคลง เกิดความไม่แน่ใจ
ย่อมร่ำไร รำพัน เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหลว่า
ในอนาคตอันยาวนาน เราจักมีหรือจักไม่มี ในอนาคตอันยาวนาน เราจักเป็นอะไร
หรือจักเป็นอย่างไร หรือในอนาคตอันยาวนาน เราเป็นอะไรแล้ว จักเป็นอะไรอีก
รวมความว่า เราจุติจากภพนี้จักเป็นอะไรหนอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด ประสบทุกข์แล้ว
จึงคร่ำครวญอยู่ว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :47 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
[10] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย

ว่าด้วยสิกขา 3
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ได้แก่
เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์1
สมบูรณ์ด้วยอาจาระ2และโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก3 สีลขันธ์ใหญ่4 ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น
เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อ
ความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา

เชิงอรรถ :
1 สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำ ดังนี้ คือ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกายวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบท ที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = รักษา + โมกขะ = ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. 1/14/17)
2 อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและ
วาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้ารังเกียจ เช่น ไม่
เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสนาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่า
คฤหัสถ์ ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว
(วิสุทฺธิ. 1/14/18)
3 สีลขันธ์เล็ก หมายถึงอาบัติที่แก้ไขได้ คืออาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา (ขุ.ม.อ. 10/120)
4 สีลขันธ์ใหญ่ หมายถึงอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ คือ อาบัติปาราชิกอย่างเดียว (ขุ.ม.อ. 10/120)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :48 }