เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ไม่ทำความยำเกรง ไม่เรียนแจ้ง
ภิกษุเถระหรือไม่ได้รับอาราธนา ก็แสดงธรรม วิสัชนาปัญหา สวดปาติโมกข์แก่ภิกษุ
ที่อยู่ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนอง
ทางวาจา เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่คณะไม่ทำความยำเกรง ไม่เรียนแจ้ง
ภิกษุเถระหรือไม่ได้รับอาราธนา ก็แสดงธรรม วิสัชนาปัญหา แก่ภิกษุที่อยู่ในอาราม
ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง แสดงธรรม วิสัชนาปัญหาแก่ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ที่อยู่ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนอง
ทางวาจา เป็นอย่างนี้
ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว พูดกับสตรีหรือเด็กหญิง
อย่างนี้ว่า "แม่หนูชื่อนี้ นามสกุลนี้ มีอะไรบ้างล่ะ ข้าวต้มมีไหม ข้าวสวยมีไหม
ของขบเคี้ยวมีบ้างไหม พวกอาตมาจักดื่มอะไร จักฉันอะไร จักเคี้ยวอะไร มีอะไรบ้าง
หรือพวกเธอจักถวายอะไรแก่อาตมาบ้างล่ะ" พูดพร่ำเพ้อไป ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว
แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างนี้ นี้ชื่อว่าความคะนองทางวาจา
ความคะนองทางใจ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มิใช่ออกบวชจากตระกูลสูง ก็มีจิตวางตัวเช่น
เดียวกับภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลสูง มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติมาก ...
มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติยิ่งใหญ่... มิใช่เป็นผู้ทรงจำพระสูตร... มิใช่
เป็นผู้ทรงจำพระวินัย... มิใช่เป็นพระธรรมกถึก... มิใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ... มิใช่
เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ทรง
ไตรจีวรเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้
งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ถือการอยู่ใน
เสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌาน... มิใช่เป็นผู้ได้ทุติยฌาน...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :469 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
มิใช่เป็นผู้ได้ตติยฌาน... มิใช่เป็นผู้ได้จตุตถฌาน... มิใช่เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตน-
สมาบัติ... มิใช่เป็นผู้ได้วิญญานัญจายตนสมาบัติ... มิใช่เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตน-
สมาบัติ... มิใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็มีจิตวางตัวเช่นเดียวกับ
ภิกษุผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นี้ชื่อว่าความคะนองทางใจ
คำว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงศึกษา คือ ไม่พึงประพฤติ
ไม่พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติความเป็นผู้คะนอง
ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้คะนอง คือ
เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้คะนอง
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
คำว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง อธิบายว่า ถ้อยคำแก่งแย่ง เป็นอย่างไร
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า "ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้...
หรือหากท่านสามารถก็จงแก้ไขเถิด"
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "โมคคัลลานะ เมื่อมีถ้อยคำแก่งแย่ง
ก็พึงหวังการต้องพูดกันมาก เมื่อมีการพูดกันมาก ก็พึงหวังความฟุ้งซ่าน คนฟุ้งซ่าน
ก็มีความไม่สำรวม จิตของผู้ไม่สำรวมก็ห่างไกลจากสมาธิ"1
คำว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง อธิบายว่า ไม่พึงกล่าว คือ ไม่พึงพูด
ไม่พึงบอก ไม่พึงแสดง ไม่พึงชี้แจงถ้อยคำแก่งแย่ง ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งถ้อยคำแก่งแย่ง คือ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำแก่งแย่ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
รวมความว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง
[166] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น
ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร

เชิงอรรถ :
1 องฺ.สตฺตก. 23/61/72

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :470 }