เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุนี้ไม่พึงอวด ไม่โอ้อวดอย่างนี้ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความโอ้อวด ได้แก่ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น
ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่
พึงเป็นคนมักอวด

ว่าด้วยการกล่าววาจามุ่งได้
คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ อธิบายว่า
วาจามุ่งได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ กล่าววาจามุ่งได้จีวร กล่าววาจามุ่งได้บิณฑบาต
กล่าววาจามุ่งได้เสนาสนะ กล่าววาจามุ่งได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร นี้ตรัสเรียกว่า
วาจามุ่งได้
อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่ง
เสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุก็พูดจริงบ้าง พูดเท็จบ้าง
พูดส่อเสียดบ้าง พูดไม่ส่อเสียดบ้าง พูดหยาบบ้าง พูดไม่หยาบบ้าง พูดเพ้อเจ้อบ้าง
พูดไม่เพ้อเจ้อบ้าง พูดด้วยปัญญาบ้าง แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า วาจามุ่งได้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุมีจิตเลื่อมใสแสดงธรรมแก่คนพวกอื่น ด้วยคิดว่า "โอหนอ
ขอคนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วพึงเลื่อมใสในธรรม และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว
ก็พึงแสดงอาการเลื่อมใสเรา" นี้ก็ตรัสเรียกว่า วาจามุ่งได้
คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงกล่าว คือ ไม่พึงพูด
ไม่พึงบอก ไม่พึงแสดง ไม่พึงชี้แจงวาจามุ่งได้ โดยที่สุดจนถึงวาจาแสดงธรรม ได้แก่
พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งวาจามุ่งได้ ได้แก่ เป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับวาจามุ่งได้ มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :466 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความคะนอง 3 อย่าง
คำว่า ความเป็นผู้คะนอง ในคำว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ได้แก่
ความคะนอง 3 อย่าง คือ
1. ความคะนองทางกาย 2. ความคะนองทางวาจา
3. ความคะนองทางใจ
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ก็แสดงความคะนองทางกาย
อยู่ในหมู่คณะ... อยู่ในศาลาโรงฉัน ... อยู่ในเรือนไฟ ... อยู่ที่ท่าน้ำ... กำลังเข้าสู่
ละแวกบ้าน... เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว ก็แสดงความคะนองทางกาย
ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ก็ไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียด
เสียดภิกษุเถระบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะ
สูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดง
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่คณะก็ไม่ทำความยำเกรง เมื่อภิกษุ
เถระไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมอยู่ ก็สวมรองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุเถระเดิน
จงกรมบนลานจงกรมต่ำ ก็เดินจงกรมบนลานจงกรมสูง เมื่อภิกษุเถระเดินจงกรม
บนพื้นดินก็เดินจงกรมบนลานจงกรม ยืนเบียดเสียดบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง
ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง
แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในศาลาโรงฉันแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาลาโรงฉันก็ไม่ทำความยำเกรง
นั่งแทรกภิกษุเถระบ้าง นั่งกีดกันอาสนะภิกษุนวกะบ้าง ยืนเบียดเสียดบ้าง
นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุม
ศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในศาลาโรงฉัน แสดงความคะนอง
ทางกาย เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :467 }