เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคนเพราะอยากได้ลาภ อธิบายว่า ภิกษุมุ่ง
หวังลาภ ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย
เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งการเกิดแห่งลาภโดยเฉพาะ คือ พึงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการพูดเลียบเคียง ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการพูดเลียบเคียง มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคนเพราะอยากได้ลาภ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน
เพราะอยากได้ลาภ
[165] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง

ว่าด้วยผู้ไม่โอ้อวด
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อวด
เป็นผู้โอ้อวด เธอย่อมอวด โอ้อวดว่า "เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง สมบูรณ์ด้วยวัตร
บ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลพรตบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วยโคตรบ้าง สมบูรณ์
ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง สมบูรณ์
ด้วยทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่การงานบ้าง สมบูรณ์
ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้คง
แก่เรียนบ้าง สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
ออกบวชจากตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง ออกบวช
จากตระกูลมีโภคสมบัติมากบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง
เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง... เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติบ้าง"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :465 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุนี้ไม่พึงอวด ไม่โอ้อวดอย่างนี้ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความโอ้อวด ได้แก่ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น
ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่
พึงเป็นคนมักอวด

ว่าด้วยการกล่าววาจามุ่งได้
คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ อธิบายว่า
วาจามุ่งได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ กล่าววาจามุ่งได้จีวร กล่าววาจามุ่งได้บิณฑบาต
กล่าววาจามุ่งได้เสนาสนะ กล่าววาจามุ่งได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร นี้ตรัสเรียกว่า
วาจามุ่งได้
อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่ง
เสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุก็พูดจริงบ้าง พูดเท็จบ้าง
พูดส่อเสียดบ้าง พูดไม่ส่อเสียดบ้าง พูดหยาบบ้าง พูดไม่หยาบบ้าง พูดเพ้อเจ้อบ้าง
พูดไม่เพ้อเจ้อบ้าง พูดด้วยปัญญาบ้าง แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า วาจามุ่งได้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุมีจิตเลื่อมใสแสดงธรรมแก่คนพวกอื่น ด้วยคิดว่า "โอหนอ
ขอคนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วพึงเลื่อมใสในธรรม และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว
ก็พึงแสดงอาการเลื่อมใสเรา" นี้ก็ตรัสเรียกว่า วาจามุ่งได้
คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงกล่าว คือ ไม่พึงพูด
ไม่พึงบอก ไม่พึงแสดง ไม่พึงชี้แจงวาจามุ่งได้ โดยที่สุดจนถึงวาจาแสดงธรรม ได้แก่
พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งวาจามุ่งได้ ได้แก่ เป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับวาจามุ่งได้ มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :466 }