เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน อธิบายว่า
ภิกษุเกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับพวกคฤหัสถ์ในบ้าน เพลิดเพลิน
ร่วมกัน เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อ
พวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ภิกษุชื่อว่าเกี่ยวข้อง
ในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เวลาเช้า ภิกษุนุ่งห่มแล้วถือบาตรจีวรเข้าหมู่บ้าน หรือนิคมเพื่อ
บิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวมอินทรีย์
เธอเกี่ยวข้องในที่นั้น ๆ รับในที่นั้น ๆ ติดอยู่ในที่นั้น ๆ ถึงความเสื่อมเสียในที่นั้น ๆ ภิกษุ
ชื่อว่าเกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุไม่เกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับพวกคฤหัสถ์ในบ้าน ไม่เพลิดเพลิน
ร่วมกัน ไม่เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุข ก็มิได้สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ ก็มิได้
ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็มิได้ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ภิกษุ
ชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เวลาเช้า ภิกษุนุ่งห่มแล้วถือบาตรจีวรเข้าหมู่บ้าน หรือนิคมเพื่อ
บิณฑบาต รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิต ตั้งสติ สำรวมอินทรีย์ เธอไม่เกี่ยวข้อง
ในที่นั้น ๆ ไม่รับในที่นั้น ๆ ไม่ติดอยู่ในที่นั้น ๆ ไม่ถึงความเสื่อมเสียในที่นั้น ๆ ภิกษุ
ชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน อธิบายว่า ไม่พึงเกี่ยวข้อง คือ ไม่พึงรับ ไม่พึง
ติดอยู่ ไม่พึงพัวพันในบ้าน ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น
พึงเป็นผู้คลายความยินดี ปราศจากความยินดี สลัดทิ้งความยินดีในบ้านเสียได้...
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :463 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการพูดเลียบเคียง
คำว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคนเพราะอยากได้ลาภ อธิบายว่า
การพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ การพูดหว่านล้อม พูดเลียบเคียง พูดเลียบเคียงอย่างดี การพูดยกย่อง
พูดยกย่องอย่างดี การพูดผูกพัน พูดผูกพันอย่างดี การพูดอวดอ้าง พูดอวดอ้าง
อย่างดี การพูดคำเป็นที่รัก ความเป็นผู้พูดมุ่งให้คนรัก ความเป็นผู้พูดเหลวไหล
ความเป็นผู้พูดประจบ ความเป็นผู้พูดแคะไค้ (กัดกินเนื้อหลังของผู้อื่น) ความเป็นผู้
พูดอ่อนหวาน พูดไพเราะ พูดปลูกไมตรี เป็นผู้ไม่พูดคำหยาบแก่คนอื่น ของภิกษุ
ผู้มั่นหมายลาภ สักการะ และความสรรเสริญ มีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยาก
ครอบงำ เห็นแก่อามิส หนักในโลกธรรม นี้ตรัสเรียกว่า การพูดเลียบเคียง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุพูดเลียบเคียงกับคนด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ (1) เมื่อวางตนต่ำ
ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกับคน (2) เมื่อยกตนสูง วางผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกับคน
ภิกษุเมื่อวางตนต่ำยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกับคน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านมีอุปการะมากแก่ฉัน ฉันอาศัยพวกท่านแล้ว ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะอาศัยพวกท่าน เห็น
แก่ท่าน คนเหล่าอื่นจึงสำคัญเพื่อให้ หรือเพื่อทำแก่ฉัน ชื่อเก่า ที่บิดามารดาตั้งให้
ฉันก็เลือนหายไปแล้ว ฉันมีคนรู้จักก็เพราะพวกท่านว่า เป็นพระประจำตระกูล
ของอุบาสกโน้น เป็นพระประจำตระกูลของอุบาสิกาโน้น ภิกษุชื่อว่าวางตนต่ำ
ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกับคน เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุเมื่อยกตนสูงวางผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกับคน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า ฉันมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัยฉันแล้วก็ถึง
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาด
จากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจาก
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ฉันให้อุทเทส ให้ปริปุจฉาแก่พวกท่าน บอกอุโบสถ
อำนวยการนวกรรมแก่พวกท่าน ก็แต่พวกท่านทอดทิ้งฉันแล้วไปสักการะ ทำความ
เคารพ นับถือ บูชาผู้อื่น ภิกษุชื่อว่ายกตนสูงวางผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกับคน เป็น
อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :464 }