เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยกิเลส
คำว่า ภิกษุ... ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ อธิบายว่า กิเลส
เป็นเหตุก่อการว่าร้าย เป็นอย่างไร
สมณพราหมณ์บางพวก มีฤทธิ์ มีทิพพจักขุ รู้ใจคนอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เห็น (รูป) ได้แต่ไกลบ้าง อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ (แก่ผู้อื่น) บ้าง รู้ใจ(ผู้อื่น) ด้วยใจ(ตน) บ้าง
เทวดา ผู้มีฤทธิ์ มีทิพพจักขุ รู้ใจคนอื่น เทวดาเหล่านั้น เห็น (รูป) ได้แต่ไกลบ้าง
อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ(แก่ผู้อื่น)บ้าง รู้ใจ(ผู้อื่น)ด้วยใจ(ตน)บ้าง ชนทั้งหลาย พึงว่าร้าย
สมณพราหมณ์ และเทวดาทั้งหลายนั้นด้วยกิเลสอย่างหยาบบ้าง ด้วยกิเลสอย่าง
กลางบ้าง ด้วยกิเลสอย่างละเอียดบ้าง
กิเลสอย่างหยาบ เป็นอย่างไร
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เหล่านี้เรียกว่า กิเลสอย่างหยาบ
กิเลสอย่างกลาง เป็นอย่างไร
คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เหล่านี้เรียกว่า กิเลสอย่างกลาง
กิเลสอย่างละเอียด เป็นอย่างไร
คือ ความตรึกถึงญาติ ความตรึกถึงชนบท ความตรึกเพื่อความเป็นผู้ไม่ตาย
ความตรึกที่ประกอบด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ความตรึกที่ประกอบด้วยลาภ สักการะ
และความสรรเสริญ ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ดูหมิ่น เหล่านี้ เรียกว่า
กิเลสอย่างละเอียด
ภิกษุ ไม่พึงว่าร้ายสมณพราหมณ์และเทวดาเหล่านั้นด้วยกิเลสอย่างหยาบบ้าง
ด้วยกิเลสอย่างกลางบ้าง ด้วยกิเลสอย่างละเอียดบ้าง ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้าย
คือ ไม่พึงก่อ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้น ซึ่งกิเลส
เป็นเหตุว่าร้าย ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลส
เป็นเหตุว่าร้าย พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
กับกิเลสเป็นเหตุว่าร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
คำว่า ในที่ไหนๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า ภิกษุ... ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่
ไหน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :462 }