เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ความโกรธ ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก
เคืองตลอด ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ
ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย
ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต
คำว่า วาจาส่อเสียด ได้แก่ คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด ฟังจาก
ข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไปบอกข้างนี้
เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้แตกแยก หรือ สนับสนุนผู้ที่
แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการแบ่งพวกแบ่งเหล่า สนุกกับ
การแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่งพวกแบ่งเหล่า นี้ตรัสเรียกว่า
วาจาส่อเสียด
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ (1) ด้วย
ประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก (2) ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รักด้วยคิดว่า
"เราจักเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจของผู้นี้"
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยคิดว่า "ทำอย่างไร ชนเหล่านี้ พึง
เป็นคนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น 2 พวก เป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย
แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบาก ไม่สบาย" บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไป
ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้
คำว่า พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธและวาจา
ส่อเสียด อธิบายว่า พึงทุเลา พึงบรรเทา คือ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความโลภ ความตระหนี่ ความโกรธ และวาจาส่อเสียด รวมความว่า
พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธและวาจาส่อเสียด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :460 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
ได้รับการสรรเสริญแล้วก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่
ความโกรธและวาจาส่อเสียด
[164] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน
เพราะอยากได้ลาภ
คำว่า ไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย อธิบายว่า การซื้อขายที่ทรงห้ามไว้
ในวินัย ไม่ทรงประสงค์เอาในเนื้อความนี้
ภิกษุดำรงชีวิตในการซื้อขาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเมื่อทำความล่อลวง หรือปรารถนากำไร แลกเปลี่ยนบาตร จีวร
หรือบริขารอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งกับสหธรรมิก 1 จำพวก ภิกษุชื่อว่าดำรงชีวิตในการ
ซื้อขาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุไม่ดำรงชีวิตในการซื้อขาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเมื่อไม่ทำความล่อลวง หรือ ไม่ปรารถนากำไร ไม่แลกเปลี่ยนบาตร จีวร
หรือบริขารอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งกับสหธรรมิก 5 จำพวก1 ภิกษุชื่อว่าไม่ดำรงชีวิตใน
การซื้อขาย เป็นอย่างนี้
คำว่า ไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย อธิบายว่า ไม่พึงดำรงชีวิต คือ ไม่พึง
ดำรงตนในการซื้อขาย ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งการซื้อขาย พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้นไม่เกี่ยวข้อง
กับการซื้อขาย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงดำรงชีวิตในการ
ซื้อขาย

เชิงอรรถ :
1 สหธรรมิก 5 ได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี (ขุ.ม.อ. 164/421)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :461 }