เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ 5 อย่าง
ผู้ตระหนี่อย่างไร จึงตรัสเรียกว่าผู้ตกต่ำ มัจฉริยะ มี 5 อย่าง คือ
1. อาวาสมัจฉริยะ(ความตระหนี่ที่อยู่)
2. กุลมัจฉริยะ(ความตระหนี่ตระกูล)
3. ลาภมัจฉริยะ(ความตระหนี่ลาภ)
4. วัณณมัจฉริยะ(ความตระหนี่วรรณะ)
5. ธัมมมัจฉริยะ(ความตระหนี่ธรรม)
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความมีจิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะ
ก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี เรียกว่า ความตระหนี่ ชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยความ
ตระหนี่นี้ คือ ความเป็นผู้ไม่รู้จักถ้อยคำของยาจก เป็นผู้ประมาท ผู้ตระหนี่อย่างนี้
ตรัสเรียกว่า ผู้ตกต่ำ
ผู้ไม่เอื้อเฟื้อพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า
และสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างไร จึงชื่อว่าผู้ตกต่ำ ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ยอมฟัง
ไม่เงี่ยโสต สดับ ไม่ตั้งใจเพื่อให้รู้พระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอน
ของพระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำ ประพฤติ
ฝ่าฝืน เบือนหน้าไปทางอื่น ผู้ไม่เอื้อเฟื้อพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา
คำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า อย่างนี้ชื่อว่าผู้ตกต่ำ รวม
ความว่า เป็นผู้ตกต่ำ
คำว่า สัตว์เหล่านั้น ... ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด อธิบายว่า ตั้งอยู่ คือตั้งมั่น
ตั้งเฉพาะ ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อ เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกายกรรม
วจีกรรม มโนกรรมที่ผิด ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) อทินนาทาน(การลักทรัพย์)
กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) มุสาวาท(การพูดเท็จ) ปิสุณาวาจา(วาจา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :46 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ส่อเสียด) ผรุสวาจา(วาจาหยาบ) สัมผัปปลาปะ(คำพูดเพ้อเจ้อ) อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของเขา) พยาบาท(ความคิดปองร้าย) มิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิดจาก
ทำนองคลองธรรม) สังขารทั้งหลาย กามคุณ 5 นิวรณ์ 5 (... ในเจตนา ... ในความ
ปรารถนา ... ในความตั้งใจที่ผิด) รวมความว่า สัตว์เหล่านั้น ... เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่
ในกรรมที่ผิด
คำว่า ประสบทุกข์แล้ว ในคำว่า ประสบทุกข์แล้ว จึงคร่ำครวญอยู่ ได้แก่
ประสบทุกข์แล้ว คือ ถึงทุกข์ ประจวบกับทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว ถึงมาร ประจวบกับ
มาร เข้าถึงมารแล้ว ถึงมรณะ ประจวบกับมรณะ เข้าถึงมรณะแล้ว รวมความว่า
ประสบทุกข์แล้ว
คำว่า คร่ำครวญอยู่ ได้แก่ ร่ำไร รำพัน เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ
ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ประสบทุกข์แล้ว จึงคร่ำครวญอยู่
คำว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ อธิบายว่า เราจุติจากภพนี้แล้ว
จักเป็นอะไรหนอ คือ จักเป็นสัตว์นรก เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เกิดในเปตวิสัย
เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่ แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปหาความเคลือบแคลง เกิดความไม่แน่ใจ
ย่อมร่ำไร รำพัน เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหลว่า
ในอนาคตอันยาวนาน เราจักมีหรือจักไม่มี ในอนาคตอันยาวนาน เราจักเป็นอะไร
หรือจักเป็นอย่างไร หรือในอนาคตอันยาวนาน เราเป็นอะไรแล้ว จักเป็นอะไรอีก
รวมความว่า เราจุติจากภพนี้จักเป็นอะไรหนอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด ประสบทุกข์แล้ว
จึงคร่ำครวญอยู่ว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :47 }