เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
คำว่า ไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา อธิบายว่า คนบางพวกในโลกนี้
พากันนินทา คือ ติเตียน ว่าร้ายภิกษุ ด้วยชาติบ้าง ด้วยโคตรบ้าง ด้วยความเป็น
บุตรของผู้มีตระกูลบ้าง ด้วยความเป็นคนมีรูปงามบ้าง ด้วยทรัพย์บ้าง ด้วยการ
ศึกษาบ้าง ด้วยหน้าที่การงานบ้าง ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง ด้วยวิทยฐานะบ้าง
ด้วยความคงแก่เรียนบ้าง ด้วยปฏิภาณบ้าง ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
ภิกษุผู้ถูกนินทา ติเตียน ว่าร้ายแล้ว ก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่พึงสั่นเทา ไม่พึงกระสับ
กระส่าย ไม่พึงหวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึง
ถึงความสะดุ้งกลัว คือ ไม่พึงขลาด ไม่พึงหวาดเสียว ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงหนีไป
เพราะการนินทา เพราะการติเตียน เพราะการว่าร้าย เพราะความเสื่อมเสียเกียรติ
เพราะถูกกล่าวโทษ พึงเป็นผู้ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพอง
สยองเกล้าอยู่ รวมความว่า ไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
คำว่า ภิกษุ... ได้รับการสรรเสริญแล้วก็ไม่พึงลำพองตน อธิบายว่า คนบาง
พวกในโลกนี้พากันสรรเสริญ คือ ชมเชย ยกย่อง พรรณนาคุณภิกษุ ด้วยชาติบ้าง...
ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
ภิกษุได้รับการสรรเสริญ คือ ชมเชย ยกย่อง พรรณนาคุณแล้วก็ไม่พึงทำความ
ลำพองตน คือ ไม่พึงทำความเย่อหยิ่ง ไม่พึงทำความถือตัว ไม่พึงทำความหัวดื้อ ไม่
พึงให้เกิดความถือตัว ไม่พึงเป็นคนจองหอง ปั้นปึ่ง หัวสูง เพราะการสรรเสริญ การ
ชมเชย การยกย่อง การพรรณนาคุณนั้น รวมความว่า ภิกษุ... ได้รับการสรรเสริญ
แล้วก็ไม่พึงลำพองตน
คำว่า ความโลภ ในคำว่า พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่
ความโกรธและวาจาส่อเสียด ได้แก่ ความโลภ กิริยาที่โลภ ภาวะที่โลภ ความ
กำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ภาวะที่กำหนัดนัก อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ 5 อย่าง คือ (1) อาวาสมัจฉริยะ...
ความยึดถือ ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :459 }