เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
(สีหไสยาสน์) โดยตะแคงด้านขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนด
เวลาตื่นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เครื่องกางกั้นด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
คำว่า พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ได้แก่ พึงประกอบ คือ ประกอบ
ด้วยดี เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ เสพเฉพาะความเพียรเครื่องตื่นอยู่ รวมความว่า
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
คำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส อธิบายว่า ความเพียร ตรัสเรียกว่า
ความเพียรเครื่องเผากิเลส คือ การปรารภความเพียร การก้าวออก การก้าวไป
ข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมั่นคง
ความทรงไว้ ความบากบั่นไม่ย่อหย่อน ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ
ความประคองธุระไว้ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันเป็นไปทางใจ
ภิกษุผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมด้วยความเพียรเครื่องเผากิเลส นี้ตรัสเรียกว่า ผู้มีความเพียรเครื่อง
เผากิเลส รวมความว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส พึงประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่

ว่าด้วยความเกียจคร้าน
คำว่า ความเกียจคร้าน ในคำว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความ
หลอกลวง เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง ได้แก่
ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ภาวะที่เกียจคร้าน ความเป็นผู้มีใจเกียจคร้าน
ความขี้เกียจ กิริยาที่ขี้เกียจ ภาวะที่ขี้เกียจ นี้ตรัสเรียกว่า ความเกียจคร้าน
คำว่า ความหลอกลวง อธิบายว่า ความประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า
ความหลอกลวง
คนบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วตั้งความปรารถนา
ชั่วทราม เพราะการปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือปรารถนาว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
ดำริว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย" กล่าววาจาด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
พยายามทางกายด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :451 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความลวง
ความล่อลวง การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น
การปิด การปกปิด การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำ
ความชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
คำว่า เรื่องชวนหัว อธิบายว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ หัวเราะเกินประมาณ
หัวเราะจนเห็นฟัน สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ในวินัยของพระอริยะ การ
หัวเราะเกินประมาณ หัวเราะจนเห็นฟัน นี้เป็นกิริยาของเด็ก"

ว่าด้วยการเล่น 2 อย่าง
คำว่า การเล่น ได้แก่ การเล่น 2 อย่าง คือ
1. การเล่นทางกาย 2. การเล่นทางวาจา
การเล่นทางกาย เป็นอย่างไร
คือ คนย่อมเล่นกีฬาบังคับช้างบ้าง เล่นกีฬาบังคับม้าบ้าง เล่นรถ เล่นธนู เล่น
หมากรุกแถวละ 8 ตา หรือเล่นหมากแถวละ 10 ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่น
หมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้
เล่นไถเล็ก ๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็ก ๆ เล่นธนูเล็ก ๆ
เล่นเขียนทราย เล่นทายใจ เล่นล้อเลียนคนพิการ นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย
การเล่นทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การทำเสียงกลองด้วยปาก ทำเสียงพิณพาทย์ด้วยปาก เล่นรัวกลองด้วย
ปาก ผิวปาก กะเดาะปาก เป่าปาก ซ้อมเพลง โห่ร้อง ขับร้อง เล่นตลก นี้ชื่อว่าการ
เล่นทางวาจา
ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ
ธรรมเนียมที่เลวทราม ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ
ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติกันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม
กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง 2 คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัส
เรียกว่า เมถุนธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :452 }