เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า และ ในคำว่า และ...พึงอยู่ในที่นั่ง ที่นอนที่มีเสียงน้อย เป็นคำ
เชื่อมบท... ที่เป็นที่นั่งของภิกษุ ตรัสเรียกว่า ที่นั่ง ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ
แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปูลาดทำด้วยใบไม้ เครื่องปูลาดทำด้วยฟาง
เสนาสนะ ตรัสเรียกว่า ที่นอน ได้แก่ วิหาร เรือนหลังคาด้านเดียว ปราสาท
เรือนโล้น ถ้ำ รวมความว่า ในที่นั่ง ที่นอน
คำว่า ภิกษุ... พึงอยู่... ที่มีเสียงน้อย อธิบายว่า ภิกษุพึงเที่ยวไป พึงอยู่ คือ
เคลื่อนไหว เป็นไป รักษาชีวิต เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในเสนาสนะ
ที่มีเสียงน้อย คือ มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น รวมความว่า ภิกษุ... และพึงอยู่
ในที่นั่ง ที่นอนที่มีเสียงน้อย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย
[161] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง เรื่องชวนหัว
การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง

ว่าด้วยเรื่องการแบ่งเวลา
คำว่า ภิกษุไม่พึงหลับมาก อธิบายว่า พึงแบ่งกลางคืนและกลางวันออก
เป็น 6 ส่วน ตื่นเสีย 5 ส่วน นอนหลับเสีย 1 ส่วน รวมความว่า ภิกษุไม่พึง
หลับมาก
คำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วย
การเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน คือ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้น
ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :450 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
(สีหไสยาสน์) โดยตะแคงด้านขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนด
เวลาตื่นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เครื่องกางกั้นด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
คำว่า พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ได้แก่ พึงประกอบ คือ ประกอบ
ด้วยดี เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ เสพเฉพาะความเพียรเครื่องตื่นอยู่ รวมความว่า
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
คำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส อธิบายว่า ความเพียร ตรัสเรียกว่า
ความเพียรเครื่องเผากิเลส คือ การปรารภความเพียร การก้าวออก การก้าวไป
ข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมั่นคง
ความทรงไว้ ความบากบั่นไม่ย่อหย่อน ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ
ความประคองธุระไว้ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันเป็นไปทางใจ
ภิกษุผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมด้วยความเพียรเครื่องเผากิเลส นี้ตรัสเรียกว่า ผู้มีความเพียรเครื่อง
เผากิเลส รวมความว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส พึงประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่

ว่าด้วยความเกียจคร้าน
คำว่า ความเกียจคร้าน ในคำว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความ
หลอกลวง เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง ได้แก่
ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ภาวะที่เกียจคร้าน ความเป็นผู้มีใจเกียจคร้าน
ความขี้เกียจ กิริยาที่ขี้เกียจ ภาวะที่ขี้เกียจ นี้ตรัสเรียกว่า ความเกียจคร้าน
คำว่า ความหลอกลวง อธิบายว่า ความประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า
ความหลอกลวง
คนบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วตั้งความปรารถนา
ชั่วทราม เพราะการปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือปรารถนาว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
ดำริว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย" กล่าววาจาด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"
พยายามทางกายด้วยคิดว่า "ใครอย่ารู้ทันเราเลย"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :451 }