เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดีแล้ว
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง
[160] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย

ว่าด้วยผู้มีฌาน
คำว่า พึงเป็นผู้มีฌาน ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุข อธิบายว่า เป็นผู้มีฌาน ด้วยปฐมฌานบ้าง ด้วยทุติยฌานบ้าง ด้วยตติยฌาน
บ้าง ด้วยจตุตถฌานบ้าง ด้วยฌานที่มีวิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มี
วิตกมีเพียงวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีวิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง
ด้วยฌานที่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่
สหรคตด้วยปีติบ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยความแช่มชื่นบ้าง ด้วยฌานที่สหรคต
ด้วยสุขบ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ด้วยฌานที่เป็นสุญญตะบ้าง ด้วย
ฌานที่เป็นอนิมิตตะบ้าง ด้วยฌานที่เป็นอัปปณิหิตะบ้าง ด้วยฌานที่เป็นโลกิยะบ้าง
ด้วยฌานที่เป็นโลกุตตระบ้าง คือ เป็นผู้ยินดีในฌาน ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมี
อารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์ของตน รวมความว่า พึงเป็นผู้มีฌาน
คำว่า ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความ
เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข จึงเป็นผู้ขวนขวายในการเที่ยวไปนาน การเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง
จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีก
นครหนึ่ง จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบทหนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง ภิกษุชื่อว่า
เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :446 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุขภายในสังฆาราม มิใช่
เพราะเหตุแห่งประโยชน์ มิใช่เพราะเหตุแห่งการกระทำ แต่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตใจ
ไม่สงบ เดินจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง จากวิหารหนึ่งไปสู่อีกวิหารหนึ่ง จาก
เรือนหลังคาด้านเดียวไปสู่เรือนหลังคาด้านเดียวอีกแห่งหนึ่ง จากปราสาทหนึ่งไปสู่อีก
ปราสาทหนึ่ง จากเรือนโล้นหลังหนึ่งไปสู่เรือนโล้นอีกหลังหนึ่ง จากถ้ำหนึ่งไปสู่อีกถ้ำ
หนึ่ง จากที่หลีกเร้นแห่งหนึ่งไปสู่ที่หลีกเร้นอีกแห่งหนึ่ง จากกุฎีหนึ่งไปสู่อีกกุฎีหนึ่ง
จากเรือนยอดแห่งหนึ่งไปสู่เรือนยอดอีกแห่งหนึ่ง จากป้อมหนึ่งไปสู่อีกป้อมหนึ่ง
จากปะรำหนึ่งไปสู่อีกปะรำหนึ่ง จากเรือนที่พักแห่งหนึ่งไปสู่เรือนที่พักอีกแห่งหนึ่ง
จากโรงเก็บของแห่งหนึ่งไปสู่โรงเก็บของอีกแห่งหนึ่ง จากโรงฉันแห่งหนึ่งไปสู่โรงฉัน
อีกแห่งหนึ่ง จากมณฑลแห่งหนึ่งไปสู่มณฑลอีกแห่งหนึ่ง จากโคนต้นไม้แห่งหนึ่งไป
สู่โคนต้นไม้อีกแห่งหนึ่ง เดินไปที่ที่พวกภิกษุนั่งกันอยู่ เป็นที่ 2 ของภิกษุ 1 รูป เป็นที่
3 ของภิกษุ 2 รูป หรือเป็นที่ 4 ของภิกษุ 3 รูป ในที่นั้น ๆ พูดเรื่องเพ้อเจ้อมาก
มายในที่นั้น คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย
เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องยาน เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบดอกไม้
เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่อง
บุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด
เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยเรื่องผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด
ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ คือ ประพฤติ ประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังมีชีวิตให้ดำเนินไป พึงเป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :447 }