เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[159] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดีแล้ว
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง

ว่าด้วยข้าวน้ำและของขบเคี้ยว
คำว่า ข้าว ในคำว่า... ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี ได้แก่ ข้าวสุก
ขนมกุมมาส (ขนมสด) ข้าวผง (สัตตุ) ปลา เนื้อ
คำว่า น้ำ ได้แก่ น้ำปานะ 8 อย่าง คือ

1. น้ำมะม่วง 2. น้ำหว้า
3. น้ำกล้วยมีเมล็ด 4. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
5. น้ำมะซาง 6. น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น
7. น้ำเหง้าบัว 8. น้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่

น้ำปานะอีก 8 อย่าง คือ

1. น้ำสะคร้อ 2. น้ำผลเล็บเหยี่ยว
3. น้ำพุทรา 4. น้ำเปรียง
5. น้ำผสมน้ำมัน 6. น้ำข้าวยาคู
7. น้ำนม 8. น้ำรส

คำว่า ของขบเคี้ยว ได้แก่ ของขบเคี้ยวทำด้วยแป้ง ของขบเคี้ยวทำเป็นขนม
ของขบเคี้ยวทำด้วยหัว (ราก) ของขบเคี้ยวทำด้วยเปลือกไม้ ของขบเคี้ยวทำด้วยใบไม้
ของขบเคี้ยวทำด้วยดอกไม้ ของขบเคี้ยวทำด้วยผลไม้
คำว่า ผ้า ได้แก่ จีวร 6 ชนิด คือ

1. โขมะ (ผ้าเปลือกไม้) 2. กัปปาสิกะ (ผ้าฝ้าย)
3. โกเสยยะ (ผ้าไหม) 4. กัมพละ (ผ้าขนสัตว์)
5. สาณะ (ผ้าป่าน) 6. ภังคะ (ผ้าที่ทำด้วยวัสดุผสมกัน)

รวมความว่า ... ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :444 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ได้แล้ว ในคำว่า ได้... แล้ว ไม่ควรทำการสะสม ได้แก่ ได้แล้ว คือ
ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้ว มิใช่ด้วยการโกหก มิใช่ด้วยการ
พูดเลียบเคียง มิใช่ด้วยการทำนิมิต มิใช่ด้วยการกำจัดคุณเขา มิใช่ด้วยการต่อลาภ
ด้วยลาภ มิใช่ด้วยการให้ไม้ มิใช่ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่ด้วยการ
ให้ดอกไม้ มิใช่ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ด้วยการให้น้ำอาบ มิใช่ด้วยการให้แป้งจุรณ์
มิใช่ด้วยการให้ดินสอพอง มิใช่ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่
ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารู้จักตน มิใช่ด้วยคำพูดเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว มิใช่ด้วยกิริยา
ประจบ มิใช่ด้วยการขัดตั่งตีสนิทเขา มิใช่ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ด้วยเดรัจฉานวิชา
มิใช่ด้วยวิชาทำนายลักษณะอวัยวะ มิใช่ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม มิใช่ด้วยการเดินทำ
หน้าที่ทูต มิใช่ด้วยการเดินเป็นคนรับใช้ มิใช่ด้วยการเดินสื่อสาร มิใช่ด้วยเวชกรรม
มิใช่ด้วยนวกรรม มิใช่ด้วยการใช้ก้อนข้าวตอบแทนก้อนข้าว มิใช่ด้วยการให้และ
การเพิ่มให้ แต่ได้แล้ว คือ ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้ว โดย
ชอบธรรม โดยยุติธรรม รวมความว่า ได้แล้ว
คำว่า ไม่ควรทำการสะสม ได้แก่ ไม่ควรทำ คือ ไม่ควรให้เกิด ไม่ควรให้
เกิดขึ้น ไม่ควรให้บังเกิด ไม่ควรให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการสะสมข้าวสุก การสะสมน้ำดื่ม
การสะสมผ้า การสะสมยาน การสะสมที่นอน การสะสมของหอม การสะสมอามิส
รวมความว่า ได้...แล้ว ไม่ควรทำการสะสม
คำว่า เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง อธิบายว่า ภิกษุไม่พึง
หวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง
กลัวว่า เราไม่ได้ข้าวสุก ไม่ได้น้ำดื่ม ไม่ได้ผ้า ไม่ได้ตระกูล ไม่ได้หมู่คณะ ไม่ได้อาวาส
ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข ไม่ได้จีวร ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ
ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้ผู้พยาบาลเวลาเจ็บป่วย ไม่เป็นผู้มีชื่อเสียง
ปรากฏ คือ พึงเป็นผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและ
ความขลาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้าอยู่ รวมความว่า เมื่อไม่ได้ข้าว
เป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :445 }