เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยภัยและความขลาดกลัว
คำว่า และไม่พึงกระสับกระส่ายในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว อธิบายว่า
คำว่า ความน่ากลัว ได้แก่ ทั้งภัยและความขลาดกลัว มีความหมายอย่าง
เดียวกันนั่นเอง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภัย ความขลาดกลัวนั้น คือ สิ่งนี้เป็นแน่
บุคคลไม่พึงละเสีย มันก็จะมาหา ภัยนั้นเรียกว่า มีวัตถุภายนอกเป็นอารมณ์ คือ
ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ม้า ช้าง งู แมงป่อง
ตะขาบ โจร หรือ คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้
อีกนัยหนึ่ง โดยความหมายต่างกัน ความกลัว อาการกลัว ความหวาดหวั่น
ขนพองสยองเกล้า ความหวาดเสียว ความสะดุ้งแห่งจิต ที่เกิดขึ้นภายใน มีจิตเป็น
สมุฏฐาน เรียกว่า ภัย คือ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย
อุทกภัย อัตตานุวาทภัย(ภัยเกิดจากการติเตียนตน) ปรานุวาทภัย(ภัยเกิดจากการ
ติเตียนของผู้อื่น) ทัณฑภัย(ภัยจากอาญา) ทุคติภัย(ภัยในทุคติ) อูมิภัย(ภัยจากคลื่น)
กุมภีลภัย(ภัยจากจระเข้) อาวัฏฏภัย(ภัยจากน้ำวน) สุงสุการภัย(ภัยจากปลาร้าย)
อาชีวิกภัย(ภัยจากการหาเลี้ยงชีพ) อสิโลกภัย(ภัยคือความเสื่อมเสียชื่อเสียง)
ปริสสายสารัชชภัย(ภัยจากความครั่นคร้ามในชุมชน) ทุคติภัย เหตุที่น่ากลัว ความ
หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ใจหวาดเสียว ความสะดุ้ง
คำว่า และไม่พึงกระสับกระส่ายในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว อธิบายว่า ภิกษุ
เห็น หรือได้ยินสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่พึงสั่นเทา ไม่พึงกระสับกระส่าย
คือ ไม่หวาดเสียว ไม่ครั่นคร้าม ไม่เกรงกลัว ไม่หวาดกลัว ไม่ถึงความสะดุ้ง ได้แก่
พึงเป็นผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและความขลาดกลัว
ได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้นเธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
ในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :443 }