เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยเรื่องผู้มีตาลอกแลก
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้มีตาลอกแลก
เป็นอย่างไร ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า "รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย" จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน และการเที่ยวไปไม่แน่นอน จาก
อารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งไป
สู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง จากรัฐ
หนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง มองม้า
มองรถ มองพลเดินเท้า มองสตรี มองบุรุษ มองเด็กชาย มองเด็กหญิง มองร้านตลาด
มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มี
ตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ(อวัยวะส่วน
ต่าง ๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป
อกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้
เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยัง
ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้อยู่ คือ การฟ้อน การขับร้อง
การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี
การเล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การ
เล่นกระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ
การแข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา
การรำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัด
กระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :438 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้าน เดินทางไปตามถนน ก็เดินอย่าง
สำรวม ไม่มองช้าง ไม่มองม้า ไม่มองรถ ไม่มองพลเดินเท้า ไม่มองสตรี ไม่มอง
บุรุษ ไม่มองเด็กชาย ไม่มองเด็กหญิง ไม่มองร้านตลาด ไม่มองหน้ามุขเรือน
ไม่มองสูง ไม่มองต่ำ ไม่มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก
เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่า
ไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้งดเว้นจากความขวนขวายในการดูการละเล่นอันเป็น
ข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ เหมือนอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหาร
ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ก็ไม่พากันขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เห็นปานนี้อยู่ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่า
นิทาน... ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก อธิบายว่า พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้มีตาลอกแลก คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีตาลอกแลก มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
คำว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา อธิบายว่า เดรัจฉานกถา1 32 อย่าง
ตรัสเรียกว่า คามกถา คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ
เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องยาน เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบ
ดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่อง

เชิงอรรถ :
1 เดรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากัน
หลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม (ที.สี.อ. 17/84)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :439 }