เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อริยมรรคมีองค์ 8 นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นคำที่พระพุทธเนรมิตตรัสเรียกพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า อีกนัยหนึ่ง พระองค์ตรัสบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรมใด ธรรมนั้นทั้งหมด เป็นธรรมดี เจริญ งาม
ไม่มีโทษ ควรซ่องเสพ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปฏิปทา
คำว่า ปาติโมกข์1 ในคำว่า คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ ได้แก่ ศีลอันเป็น
ที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า
เป็นประธานเพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล
คำว่า หรือแม้สมาธิ ได้แก่ ความตั้งมั่น ความดำรงมั่น ความไม่คลอนแคลน
ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์
สมาธิพละ สัมมาสมาธิ รวมความว่า คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ ด้วยเหตุนั้น
พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ
[157] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหู มิให้ได้ยินคามกถา ไม่พึงติดใจในรส
และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ ในโลกว่าเป็นของเรา

เชิงอรรถ :
1 ปาติโมกข์ ดูเชิงอรรถข้อ 10/48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :437 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยเรื่องผู้มีตาลอกแลก
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้มีตาลอกแลก
เป็นอย่างไร ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า "รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย" จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน และการเที่ยวไปไม่แน่นอน จาก
อารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งไป
สู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง จากรัฐ
หนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง มองม้า
มองรถ มองพลเดินเท้า มองสตรี มองบุรุษ มองเด็กชาย มองเด็กหญิง มองร้านตลาด
มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มี
ตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ(อวัยวะส่วน
ต่าง ๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป
อกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้
เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยัง
ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้อยู่ คือ การฟ้อน การขับร้อง
การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี
การเล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การ
เล่นกระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ
การแข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา
การรำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัด
กระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :438 }