เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง บุคคลตั้งจิตเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า ในอนาคตอันยาวนาน
ขอเราพึงมีตาอย่างนี้ เห็นรูปอย่างนี้ เพราะมีการตั้งจิตเป็นปัจจัย เขาจึงเพลิดเพลิน
กับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึงชื่อว่า ทำความมุ่งหวัง
(กาม)ในกาลภายหลัง อย่างนี้บ้าง ... พึงมีหูอย่างนี้ ได้ยินเสียงอย่างนี้ ... พึงมีจมูก
อย่างนี้ ได้กลิ่นอย่างนี้ ... พึงมีลิ้นอย่างนี้ รู้รสอย่างนี้ ... พึงมีกายอย่างนี้ รู้สึก
ผัสสะอย่างนี้ ... บุคคลตั้งจิตเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า ในอนาคตอันยาวนาน
ขอเราพึงมีใจอย่างนี้ รู้ธรรมารมณ์อย่างนี้ เพราะมีการตั้งจิตเป็นปัจจัย เขาจึง
เพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึงชื่อว่า ทำความ
มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลตั้งจิตเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า ด้วยศีล พรต ตบะ หรือ
พรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทวดา หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง เพราะการตั้งจิตเป็นปัจจัย
เขาจึงเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึงชื่อว่าทำ
ความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง เป็นอย่างนี้บ้าง รวมความว่า มุ่งหวัง(กาม)ในกาล
ภายหลัง หรือในกาลก่อน
คำว่า (ปรารถนา)กามเหล่านี้ ในคำว่า ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มี
อยู่ก่อน ได้แก่ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง กามคุณ 5 ที่เป็น
ปัจจุบัน
คำว่า ปรารถนากามที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ ปรารถนา คือ ครวญหา พร่ำหา
กามคุณ 5 ที่เป็นอดีต รวมความว่า ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เหล่านั้น มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง หรือในกาลก่อน
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก (และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :43 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
[9] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด ประสบทุกข์แล้ว
จึงคร่ำครวญอยู่ว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ

ว่าด้วยกาม 2 อย่าง
คำว่า ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความยินดี คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ2 สัตว์ทั้งหลาย กำหนัด ยินดี คือ ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันในวัตถุกามด้วยกิเลสกาม รวมความว่า ยินดีในกามทั้งหลาย
คำว่า ขวนขวาย อธิบายว่า แม้สัตว์ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหากามทั้งหลาย
เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักในกามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไป
ในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้
ขวนขวายในกาม
แม้สัตว์ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหารูปด้วยอำนาจตัณหา ... เสียง ... กลิ่น ... รส
... ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหาโผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา เที่ยวไปเพื่อกามนั้น
มากไปด้วยกามนั้น หนักในกามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปใน
กามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในกาม
แม้สัตว์ผู้ได้เฉพาะรูปด้วยอำนาจตัณหา ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... ผู้ได้เฉพาะ
โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักใน
กามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น
มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในกาม

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2
2 ดูรายละเอียดข้อ 3/10-11

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :44 }