เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา
ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน
ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบันหรือประโยชน์
ในภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง
ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์
ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อม
เป็นไปภายในพระพุทธญาณ
พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้า บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น
พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรม
ที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วน
สุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควร
แนะนำก็มีอยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกัน
และกัน เหมือนชั้นแห่งผอบ 2 ชั้นทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกิน
ด้านบน ชั้นผอบด้านบนก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง 2 ชั้นย่อมวางประกบกันที่
ส่วนสุดโดยรอบของกันและกันฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกันฉันนั้นเหมือนกัน บท
ธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด
บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วน
สุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่
เป็นไปเกินกว่าบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกิน
กว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณ
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง
ธรรมทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วย
มนสิการ นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :427 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อนุสัย จริต อธิมุตติของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย
ในปัญญาจักขุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์
(ผู้สมควรบรรลุธรรม) เป็นอภัพพสัตว์ (ผู้ไม่สมควรบรรลุธรรม) โลกพร้อมทั้ง
เทวโลก1 มารโลก2 พรหมโลก3 หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ

เชิงอรรถ :
1 เทวโลก ดูเชิงอรรถข้อ 7/36
2 มารโลก โลกคือมาร สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากที่หมายอันประเสริฐ สิ่งที่ล้างผลาญ
คุณความดีในโลกมี 5 ได้แก่
(1) กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัดขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความ
พินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
(2) ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ หรือขันธ์ 5 เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้ง
กันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคง เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น
(3) อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา
เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังสารทุกข์
(4) เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดชั้นกามาวจรตนหนึ่ง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้ง
บุคคลไว้มิให้ล่วงพ้นจากอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้พะวงในกามสุขไม่หาญเสียสละออกไป
(5) มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณ
ความดีทั้งหลาย (วิสุทธิ.มหาฏีกา 1/144/302)
3 พรหมโลก โลกคือหมู่พรหม สวรรค์ชั้นพรหม ชั้นรูปพรหม 16 ชั้น
ก. ปฐมฌานภูมิ 3 (ระดับปฐมฌาน) ได้แก่ (1) พรหมปาริสัชชา พวกบริษัทบริวารมหาพรหม
(2) พรหมปุโรหิตา พวกปุโรหิตมหาพรหม (3) มหาพรหมา พวกท้าวมหาพรหม
ข. ทุติยฌานภูมิ 3 (ระดับทุติยฌาน) (4) ปริตตาภา พวกมีรัศมีน้อย (5) อัปปมาณาภา พวกมีรัศมี
ประมาณไม่ได้ (6) อาภัสสรา พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป
ค. ตติยฌานภูมิ 3 (ระดับตติยฌาน) (7) ปริตตสุภา พวกมีลำรัศมีงามน้อย (8) อัปปมาณสุภา พวกมี
ลำรัศมีงามประมาณมิได้ (9) สุภกิณหา พวกมีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า
ง. จตุตถฌานภูมิ 3-7 (ระดับจตุตถฌาน) (10) เวหัปผลา พวกมีผลไพบูลย์ (11) อสัญญีสัตว์
พวกสัตว์ไม่มีสัญญา
สุทธาวาส 5 (พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือที่เกิดของพระอนาคามี)
(12) อวิหา เหล่าท่านผู้ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน ผู้คงอยู่นาน
(13) อตัปปา เหล่าท่านผู้ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ใคร หรือผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร
(14) สุทัสสา เหล่าท่านผู้งดงามน่าทัศนา
(15) สุทัสสี เหล่าท่านผู้มองเห็นชัดเจนดี หรือผู้มีทัศนาแจ่มชัด
(16) อกนิฏฐา เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อยกว่าใคร ผู้สูงสุด (อภิ.วิ.(แปล) 35/1024-1026/
671-674)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :428 }