เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร
คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาค มีสีอยู่ 5 สี คือ (1) สีเขียว
(2) สีเหลือง (3) สีแดง (4) สีดำ (5) สีขาว ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว
เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท
สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของ
พระผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ กลางดวงพระเนตร
มีสีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว
ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์ พระผู้มีพระภาค
มีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่ทรง
สั่งสมมาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด 1 โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้ในเวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ 4 คือ (1) ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว (2) เป็น
วันอุโบสถข้างแรม (3) ป่าชัฏรกทึบ (4) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา ในความมืดที่
ประกอบด้วยองค์ 4 อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด 1 โยชน์โดยรอบ ไม่
มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการเห็นรูปทั้งหลายได้
หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมาย แล้วใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา พระผู้มี-
พระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอาเมล็ดงานั้นขึ้นมาได้ พระมังสจักขุตามปกติของพระผู้
มีพระภาค บริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต
ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจดล่วงจักษุมนุษย์
ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า "สัตว์เหล่านี้แหละหนอ ประกอบด้วยกาย-
ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วย
อำนาจมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
แต่สัตว์เหล่านี้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็น
สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้น
ก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์" พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :425 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุ อันหมดจด
ล่วงจักษุมนุษย์ ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม และพระผู้มีพระภาคเมื่อทรง
ประสงค์ พึงทรงเห็นได้แม้ 1 โลกธาตุ... แม้ 2 โลกธาตุ... แม้ 3 โลกธาตุ... แม้ 4
โลกธาตุ... แม้ 5 โลกธาตุ... แม้ 10 โลกธาตุ... แม้ 20 โลกธาตุ... แม้ 30 โลกธาตุ...
แม้ 40 โลกธาตุ... แม้ 50 โลกธาตุ... แม้ 100 โลกธาตุ... โลกธาตุขนาดเล็ก
ประกอบด้วย 1,000 จักรวาล... โลกธาตุขนาดกลางประกอบด้วย 2,000 จักรวาล...
โลกธาตุขนาดใหญ่ประกอบด้วย 3,000 จักรวาล... แม้โลกธาตุที่ประกอบด้วยหลาย
พันจักรวาล พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เพียงใด ก็พึงทรงเห็นได้เพียงนั้น ทิพพจักขุ
ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วย
ทิพพจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระ
ปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอน
กิเลสได้ ทรงฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา
ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ 4 เป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็น
บุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้เอาธุระ
มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่
เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง
มรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ดำเนินไปตาม
มรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น
มีพระจักษุ มีพระธรรม มีพระญาณ เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย
ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระผู้มี-
พระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง มิได้
ทรงถูกต้องด้วยปัญญา ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมมาสู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :426 }